การคิดแก้ปัญหา เป็นกระบวนการทำงานของสมองที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเสริมสร้างความพร้อม สำหรับการพัฒนาในแต่ละช่วงวัยของเด็ก การคิดเป็นความสามารถของสมอง ที่ประมวลข้อมูลที่ได้จากการรับรู้ มาสร้างเป็นองค์ความรู้ต่าง ๆ ช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่ดี ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็ก และเป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษา ความสามารถในการแก้ปัญหาจะเป็นตัวช่วยให้เด็ก คิด วิเคราะห์ หาคำตอบได้ด้วยตัวเอง การฝึกทักษะการคิด จึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองหรือคุณครู สามารถส่งเสริมให้เด็กได้ตั้งแต่เด็กอายุน้อย ๆ อาจจะเริ่มเมื่อเด็ก อายุ 3-4 ปี โดยให้เด็กสร้างผลงานง่าย ๆ ด้วยความคิดของตนเอง ส่วนเด็กอายุ 5-6 ปี ให้เด็กพยายามคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองเมื่อได้รับคำแนะนำ สิ่งสำคัญ คือ ผู้ปกครองหรือคุณครูต้องส่งเสริมการฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย โดยจัดกิจกรรมร่วมกับเด็กแบบบูรณาการ ไม่เน้นเนื้อหา หรือการท่องจำ ซึ่งทักษะที่สำคัญ และจำเป็นที่เด็กต้องได้รับการฝึกฝน ได้แก่ การฝึกทักษะการเคลื่อนไหว ฝึกทักษะการคิด ฝึกทักษะการใช้ภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
การนำกิจกรรมหรือเกมการศึกษาง่าย ๆ มาให้เด็กเล่น สามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง เพราะเด็กจะได้เรียนรู้ปัญหาต่าง ๆ ที่สมจริง และหลากหลาย เมื่อเด็กมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ เขาก็จะมีความมั่นใจ และสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ดียิ่งขึ้น วันนี้ครูแหม่มมีกิจกรรม เกมปริศนาเขาวงกต เกมการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ที่ช่วยส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหามาแนะนำ ผู้ปกครองและคุณครูสามารถหาวัสดุอุปกรณ์ ได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ภายในบ้านหรือภายในโรงเรียน
อุปกรณ์
- 1กล่องกระดาษ
- 2หลอดดูดน้ำ
- 3กรรไกร
- 4กาวลาเท็กซ์
- 5พู่กัน
- 6สีอะคริลิค
- 7ของตกแต่ง
ขั้นตอนการทำ
1. ระบายสีอะคริลิคให้ทั่วกล่องกระดาษ แล้วทิ้งไว้จนกว่าสีจะแห้ง
2. ตัดหลอดดูดน้ำให้มีความยาวขนาดต่างกัน แนะนำให้ร่างเส้นทางเขาวงกตที่จะทำลงบนกระดาษ A4 แล่วค่อยตัดหลอดดูดน้ำจะได้ง่ายต่อการตัดและการวางหลอดดูดน้ำบนกล่องค่ะ (ผู้ปกครองสามารถทำสัญลักษณ์ไว้ที่หลอดดูดน้ำและเส้นทางที่คู่กัน แล้วให้เด็กจับคู่สัญลักษณ์ที่เหมือนกัน เป็นการเพิ่มความสนุกและฝึกทักษะการสังเกตและการจดจำให้กับเด็กค่ะ)
3. ทากาวที่หลอดดูดน้ำที่ตัดเสร็จเรียบร้อย แล้วแปะลงบนกล่องกระดาษ จากนั้นตกแต่งให้สวยงาม ก่อนเล่นผู้ปกครองอย่าลืมกำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดให้เด็กด้วยนะคะ
วิธีการเล่น
ให้ผู้ปกครองวางลูกแก้วที่จุดเริ่มต้นแล้วให้เด็กใช้มือทั้งสองข้างจับกล่องในการบังคับทิศทาง จากนั้นให้เด็กขยับกล่องเพื่อเป็นการพาลูกแก้วเดินทางจากจุดเริ่มต้นไปให้ถึงจุดสิ้นสุดที่กำหนดไว้ ในช่วงการเล่นเกมแรก ๆ เด็กอาจจะรู้สึกหงุดหงิด แต่ถ้าได้รับแรงเสริมให้กำลังใจและมีการโน้มน้าวที่ดี เด็กก็มีกำลังใจแล้วแก้ปัญหาจากการเล่นจนสำเร็จ และสิ่งที่เด็กจะได้จากการเล่นเกมปริศนาเขาวงกต คือ เด็กได้ใช้ความจำ การคิดไตร่ตรอง มีใจจดจ่อ และรู้จักการเล่นอย่างมีเป้าหมายและมีความพยายามซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จ
วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม
- กล้าคิดกล้าตัดสินใจในการแก้ปัญหาง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง
- สนใจในการทำกิจกรรมสนุกกับการเล่นเกม
- ขอความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาด้วยตัวเอง
- แสดงความคิดเห็นกับกิจกรรมได้ตามวัย
ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักคิดว่า การเล่นของเด็ก เป็นเพียงการเล่นที่เด็ก ๆ จะไม่ได้เรียนรู้ หรือความรู้จากการเล่นเหล่านั้นเลย แต่ในความเป็นจริง การเล่นของเด็กสามารถช่วยฝึกทักษะฝึกแก้ปัญหา และฝึกทักษะการคิดให้กับเด็ก ๆ ได้ เช่น เด็กเล่นเป็นคุณหมอ แต่ไม่มีเข็มฉีดยาของเล่น จึงนำดินสอมาเป็นเข็มฉีดยาแทน ซึ่งเป็นการคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวเด็กเอง ไม่จำเป็นต้องสอน แต่อาจจะมีบ้างที่ผู้ปกครองหรือคุณครู จะต้องอำนวยความสะดวก หรือให้คำแนะนำเล็กน้อย เพื่อให้เด็ก ๆ บรรลุวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้จากการเล่น เด็กจะรู้จักใช้การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และสามารถหาคำตอบหรือทางออกให้กับปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายค่ะ ที่สำคัญช่วยให้เด็กมีความมั่นใจมากขึ้น รู้จักรับผิดชอบในการจัดการแก้ปัญหากับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันง่าย ๆ ได้ด้วยตัวเอง
Tip & Trickเกมเขาวงกต คือ? เกมเขาวงกต คือเกมแสดงการเดินทางที่ซับซ้อนโดยมีการกำหนดจุดทางเข้าและออก ในการเล่นผู้เล่นจะต้องกลิ้งลูกแก้วจากจุดทางเข้าผ่านเส้นทางที่วกวนไปยังจุดทางออก โดยตลอดเส้นทางอาจมีอุปสรรคจนทำให้ผู้เล่นไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ผู้เล่นจะต้องเดินทางวกวนมีการเลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวา เดินหน้า-ถอยหลัง อย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ไปติดทางตัน ผู้เล่นจะได้ทั้งความสนุก ตื่นเต้น กับการสังเกตเส้นทาง ได้เรียนรู้จักการวางแผนและการตัดสินใจ โดยได้ฝึกการแก้ปัญหาอย่างลองผิดลองถูก เด็กจะจดจ่ออยู่กับเกมเป็นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้นเพราะตามธรรมชาติของเด็กวัยนี้จะไม่ค่อยอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน