การฉีก ตัด ปะ คืออะไร ? การฉีก ตัด ปะ คือ กิจกรรมศิลปะผ่านการฉีก ตัดกระดาษสีหรือเศษวัสดุ ทากาวแล้วนำไปปะติดบนกระดาษ ให้เกิดเป็นภาพหรือรูปร่างต่าง ๆ ตามจินตนาการ ช่วยให้เด็ก ๆ มีกล้ามเนื้อมือที่แข็งแรงและสามารถบังคับกล้ามเนื้อมือไปในทิศทางต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังจะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ฝึกการประสานสัมพันธ์ของตากับมือ เพิ่มสมาธิ และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ด้วยค่ะ

สำหรับผู้ปกครองบางท่านอาจสามารถหาวัสดุ อุปกรณ์และเริ่มลงมือสร้างสรรค์ผลงานไปพร้อมกับเด็ก ๆ ได้เลย แต่ผู้ปกครองบางท่านอาจยังสับสนไม่รู้จะเริ่มยังไงดี เราก็มีทางออกให้ค่ะ เพียงแค่ผู้ปกครองเตรียมอุปกรณ์ และดาวน์โหลด Pattern ที่เราเตรียมไว้ให้ปัญหาที่ว่ามาก็จะหมดไปค่ะ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยดีกว่า

วัสดุ อุปกรณ์

  • 1

    กระดาษสี สำหรับเด็กเล็กผู้ปกครอง สามารถดาวน์โหลด Pattern สำหรับปะจากเราได้ค่ะ
  • 2

    กระดาษ A4 วาดเป็นรูปบ้านหรือสำหรับผู้ปกครองที่มีเครื่องปริ้นสามารถดาวน์โหลด Pattern บ้านของหนูที่ลิงก์ด้านล่างได้ค่ะ
  • 3

    กาว ใช้กาวอะไรก็ได้ตามสะดวกเลย
  • 4

    กรรไกร (เหมาะกับเด็ก 5-6 ขวบ และควรอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้ปกครองหรือครูค่ะ)

ขั้นตอนการทำ

1. ให้ผู้ปกครองตัดกระดาษสีต่าง ๆ เป็นเส้นยาว ๆ เตรียมไว้ก่อน เพื่อง่ายต่อการให้เด็ก ๆ ฉีกในขั้นตอนต่อไป ถ้าเป็นเด็กโตผู้ปกครองอาจให้เด็กฉีกหรือตัดเองทั้งหมดได้เลยค่ะ

สำหรับเด็กเล็กผู้ปกครองอาจตัดกระดาษสีตามรูปทรงส่วนต่าง ๆ ของบ้านก็ได้นะคะ โดยตัดให้เล็กกว่าแบบเล็กน้อย เพื่อที่จะได้ง่ายในการสังเกตและการปะของเด็ก ๆ หรืออาจวาดเป็นรูปทรงไว้บนกระดาษสีแล้วให้เด็กฉีกตามรูปทรงที่กำหนดให้ก็ได้ค่ะ

ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถดาวน์โหลด Pattern สำหรับนำไปปะหรืออาจปริ้นขาว-ดำ แล้วนำไปทาบลงบนกระดาษสีจากลิงก์ด้านล่างได้เช่นกันค่ะ โดยบ้านทั้ง 5 ชุดจะมี Pattern ตัวนี้รวมอยู่ด้วย หากผู้ปกครองท่านใดต้องการก็สามารถปริ้นออกมาพร้อมกันได้เลยค่ะ

2. ให้เด็ก ๆ ฉีกหรือตัดกระดาษที่ผู้ปกครองได้เตรียมไว้ใน ข้อแรกออกมาเป็นชิ้น ๆ ผู้ปกครองอาจเตรียมถ้วยหรือแก้วไว้ให้เด็ก ๆ ใส่กระดาษสีที่ฉีกหรือตัดแล้ว โดยแยกสีให้ชัดเจน เพื่อจะง่ายต่อการหยิบสีและกระดาษก็จะไม่ปลิวด้วย ซึ่งขั้นตอนนี้ถ้าผู้ปกครองลงมาช่วยทำจะยิ่งเพิ่มความสนุกให้กับเด็ก ๆ ด้วยค่ะ

3. เมื่อเตรียมของครบแล้วก็จะมาถึง การปะ กันแล้วค่ะ ผู้ปกครองอาจให้เด็ก ๆ ค่อย ๆ ทากาวลงบนภาพทีละส่วนแล้วนำกระดาษที่ฉีกเตรียมไว้มาปะลงไป ถ้าเป็นกาวน้ำหรือกาวลาเท็กซ์ แนะนำให้เด็กใช้นิ้วจุ่มทากาวได้เลยค่ะ ผู้ปกครองสามารถสอดแทรกการเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัส โดยใช้คำถามนำเช่น นิ้วที่เด็กได้สัมผัสกับกาวเด็ก ๆ รู้สึกอย่างไร เหลว เหนียว ข้นลื่น ฯลฯ ให้เด็กตอบจากความรู้สึกที่ได้สัมผัส แต่เด็กบางคนไม่กล้าใช้นิ้วก็เทกาวใส่ถ้วยแล้วใช้พู่กันหรือไม้ไอติมป้ายค่ะ

4. เมื่อกาวแห้งแล้ว ผู้ปกครองอาจนำผลงานของเด็ก ๆ ไปติดที่ผนังด้านหนึ่งของบ้านหรืออาจหาเชือกมาผูกระหว่างเสาแล้วใช้ตัวหนีบ หนีบผลงานของเด็ก ๆ ไว้ เพื่อให้เด็ก ๆ มีความภาคภูมิใจ นำไปสู่การสร้างความมั่นใจของเด็ก ๆ แต่หากผู้ปกครองไม่สะดวกก็สามารถเก็บใส่แฟ้มได้นะคะ สำหรับคุณครูหรือผู้ปกครองที่มีเด็กหลายคนสามารถให้เด็กทำผลงานเป็นหนึ่งชิ้นใหญ่โดยช่วยกันปะลงบนฟิวเจอร์บอร์ดหรือกระดาษแผ่นใหญ่แสดงเป็นผลงานกลุ่มได้ค่ะ

ทั้งนี้ผู้ปกครองอาจเพิ่มระดับความยากไปเรื่อย ๆ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความชอบ ความสนใจ และพัฒนาการของเด็กเป็นสำคัญ อย่ากดดันหรือบังคับ ให้เค้าได้สนุกและมีความสุขกับการทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาการที่ดีในทุก ๆ ด้าน

ดาวน์โหลด
5 รายการ