เมื่อพูดถึงกลุ่มดาวเราคงคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก เพราะสามารถเห็นได้ทุก ๆ คืน นอกจากความสวยงามแล้วยังมีประโยชน์อีกมากมายที่ทุกคนยังไม่รู้ วันนี้เราจึงมีแนวทางในการสอน เรื่อง กลุ่มดาว ที่คุณครูสามารถนำไปสอนในรูปแบบ Project Approach ซึ่งเป็นการสอนแบบเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากสิ่งรอบตัว ส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แล้วยังเป็นกิจกรรมที่เน้นให้เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง

เด็ก ๆ สนุกสนานกับการส่องกล้องดูดาว
เด็ก ๆ สนุกสนานกับการส่องกล้องดูดาว

การเรียนรู้แบบ Project Approach เรื่องกลุ่มดาว แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 : การเริ่มต้นโครงการ

การกำหนดหัวข้อ

ให้เด็ก ๆ ระดมความคิดกันแล้วเสนอหัวข้อที่สนใจ และคุณครูอาจจะร่วมเสนอเรื่อง กลุ่มดาว เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก จากนั้นให้เด็กได้โหวตเลือกหัวข้อกัน โดยทำเป็นกราฟแสดงหัวข้อ คุณครูคอยบันทึกคะแนนเมื่อผลโหวตเป็นกลุ่มดาว จากนั้นก็เริ่มทำโครงการได้เลยค่ะ

เด็กกำลังโหวตเลือกหัวข้อที่สนใจ เพื่อทำโครงการ
เด็กกำลังโหวตเลือกหัวข้อที่สนใจ เพื่อทำโครงการ
ประสบการณ์เดิม

เมื่อผลโหวตหัวข้อ “กลุ่มดาว” เป็นเอกฉันท์แล้ว ให้เด็ก ๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จากนั้นให้เล่าประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับกลุ่มดาวที่เคยเห็นมา แล้วสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เช่น การวาดรูป การปั้นดินน้ำมัน หรือฉีกตัดปะ ได้เลย

เด็ก ๆ กำลังวาดรูป และปั้นดินน้ำมัน เป็นรูปกลุ่มดาว ตามจินตนาการ
เด็ก ๆ กำลังวาดรูป และปั้นดินน้ำมัน เป็นรูปกลุ่มดาว ตามจินตนาการ

เมื่อสร้างสรรค์ผลงานเสร็จแล้ว ให้เด็ก ๆ ช่วยกันตั้งคำถามเกี่ยวกับกลุ่มดาว โดยการเขียน Mind Map คุณครูเป็นคนช่วยเขียนให้ค่ะ

แนวทางการเขียน Mind Map เรื่อง กลุ่มดาว
แนวทางการเขียน Mind Map เรื่อง กลุ่มดาว

ระยะที่ 2 : การพัฒนาโครงการ

กิจกรรมที่ 1 สืบค้นจากหนังสือ

คุณครูนำหนังสือเกี่ยวกับกลุ่มดาว พจนานุกรม หรือสมุดภาพมาให้เด็ก ๆ ได้สืบค้นเกี่ยวกับความหมายของกลุ่มดาว ถ้าเด็กยังอ่านไม่ได้ให้คุณครูเป็นคนช่วยอ่านให้ฟังแทนได้ค่ะ แล้วระดมความคิดเพื่อค้นหาคำตอบ เมื่อได้คำตอบแล้ว ชวนเด็ก ๆ มาทำกิจกรรมวาดรูปกลุ่มดาวด้วยสีต่าง ๆ เพื่อทบทวนความรู้ว่าเข้าใจตรงกันไหม (คุณครูอาจมีจดหมายส่งถึงผู้ปกครองให้ช่วยหาข้อมูลเพื่อให้เด็กนำมาแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนในห้องเรียนในวันต่อไป)

ตัวอย่างการวาดรูปร่างของกลุ่มดาวค้างคาว และดาวนายพราน
ภาพวาดรูปร่างของกลุ่มดาวค้างคาว และดาวนายพราน
กิจกรรมที่ 2 สืบค้นจาก Internet

ให้เด็ก ๆ สืบค้นข้อมูลจาก Internet กลุ่มดาวไหนที่พบได้ง่าย สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า และประโยชน์ของกลุ่มดาว โดยมีคุณครูคอยช่วยเหลือและอ่านให้เด็กฟังในระหว่างสืบค้นข้อมูล หลังจากสืบค้นข้อมูลแล้วให้เด็ก ๆ ปั้นดินน้ำมันเป็นรูปกลุ่มดาวต่าง ๆ ตามจินตนาการได้เลยค่ะ

ตัวอย่างการนำดินน้ำมันมาปั้นเป็นรูปร่างของกลุ่มดาวม้าปีก
การนำดินน้ำมันมาปั้นเป็นรูปร่างของกลุ่มดาวม้าปีก
กิจกรรมที่ 3 วิดีโอหรือรูปภาพ กลุ่มดาว

ให้คุณครูเปิดวิดีโอหรือรูปภาพให้เด็ก ๆ ดู เพื่อศึกษาเกี่ยวกับรูปร่างของแต่ละกลุ่มดาว ว่ามีรูปร่างลักษณะคล้ายกับอะไรบ้าง โดยที่คุณครูคอยให้คำแนะนำ เมื่อสืบค้นข้อมูลแล้ว ชวนเด็ก ๆ มาสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์กลุ่มดาวโดยใช้สิ่งของรอบตัวกันค่ะ

ตัวอย่างการนำสิ่งของรอบตัว มาสร้างสรรค์ให้คล้ายกลุ่มดาวหมีเล็ก
การนำสิ่งของรอบตัว มาสร้างสรรค์ให้คล้ายกลุ่มดาวหมีเล็ก
กิจกรรมที่ 4 แผนที่กลุ่มดาว

นำแผนที่กลุ่มดาวมาให้เด็ก ๆ ได้ศึกษาว่าแต่ละกลุ่มดาวสามารถพบได้ในช่วงเดือนไหน ช่วงเวลาใดบ้าง โดยให้คุณครูแนะนำการเล่นแผนที่ให้กับเด็ก คุณครูสามารถดาวน์โหลดแผนที่กลุ่มดาวที่เว็บไซต์ LESA ได้เลยนะคะ จากนั้นคุณครูและเด็ก ๆ ช่วยกันระดมความคิดว่าที่ผ่านมาได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่มดาวอะไรไปบ้าง แล้วให้เด็ก ๆ เป็นคนแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ โดยที่คุณครูเป็นคนช่วยเขียนออกมาเป็น Mind Map

Mind Map สรุปการจัดการเรียนรู้ เรื่องกลุ่มดาว
Mind Map สรุปการจัดการเรียนรู้ เรื่องกลุ่มดาว

ระยะที่ 3 : การสรุปโครงการ

เมื่อเด็ก ๆ เรียนรู้โครงการเรื่อง “กลุ่มดาว” เสร็จแล้ว คุณครูหรือผู้ปกครองสามารถพาเด็กไปเที่ยวท้องฟ้าจำลองหรือหอดูดาวในวันหยุดได้นะคะ เพราะการเรียนรู้จากสถานที่จริงสามารถกระตุ้นความสนใจของเด็ก ๆ ได้มากขึ้นค่ะ จากนั้นปิดโครงการโดยจัดเป็นนิทรรศการแสดงผลงาน พร้อมเล่าประสบการณ์ให้เพื่อน ๆ ห้องอื่น และผู้ปกครองฟัง ทั้งนี้คุณครูควรบันทึกความสนใจของเด็กในระหว่างการทำโครงการ เพื่อเป็นแนวทางในการหาหัวข้อของโครงการในครั้งต่อไปค่ะ

เด็ก ๆ สนใจเยี่ยมชมนิทรรศการ เรื่องกลุ่มดาว
เด็ก ๆ สนใจเยี่ยมชมนิทรรศการ เรื่องกลุ่มดาว

เราได้รวบรวมเว็บไซต์ท้องฟ้าจำลองและหอดูดาวภายในประเทศที่น่าสนใจทั้ง 9 แห่ง เพื่อเป็นตัวช่วยในการหาข้อมูลและตัดสินใจในการพาเด็ก ๆ ไปเที่ยวค่ะ

  • ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) จังหวัดกรุงเทพฯ  www.sciplanet.org
  • ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต จังหวัดปทุมธานี  www.rscience.go.th
  • พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี  www.nsm.or.th
  • สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดฉะเชิงเทรา  www.narit.or.th
  • ศูนย์ดาราศาสตร์ ท้องฟ้าจำลอง จังหวัดสระบุรี, จังหวัดนครราชสีมา  www.lesa.biz
  • ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์นครหาดใหญ่ จังหวัดนครหาดใหญ่  www.hatyaipark.com
  • อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  www.waghor.go.th
  • ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์  www.nwsci.go.th
  • ศูนย์วิทยาศาสตร์ท้องฟ้าจำลอง สวนนกชัยนาท  www.chainatbirdpark.com
ดาวน์โหลด
4 รายการ