หลักการจัดประสบการณ์ของเด็กช่วงอายุ 3-6 ปี ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยได้กล่าวไว้ว่า การจัดประสบการณ์จะต้องจัดในรูปแบบบูรณาการผ่านการเล่น (การเล่นอย่างมีความหมาย) เช่น การที่เด็กเล่นบทบาทสมมติในการเล่นขายของ เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะทางภาษาจากการพูดสื่อสารกับเพื่อนในการสลับผลัดเปลี่ยนการเป็นแม่ค้าและลูกค้า ซึ่งเด็กอาจจินตนาการในการพูดขึ้นมาเองหรืออาจจดจำจากผู้ปกครองเมื่อไปตลาด นอกจากจะได้ทักษะทางภาษาแล้ว เด็กยังได้เรียนรู้เรื่องจำนวน การบวก – การลบเลขง่าย ๆ จากการเล่นอีกด้วย ถือเป็นการบูรณาการที่ได้ทั้งทักษะทางภาษาและคณิตศาตร์ (ซึ่งจะจัดเป็นการเล่นแบบมีจุดมุ่งหมายและจะไม่จัดเป็นรายวิชาค่ะ)

การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ปฐมวัย
การเล่นขายของ ช่วยส่งเสริมทักษะคณิตศาตร์ให้กับเด็ก

การจัดประสบการณ์จึงเปรียบเสมือนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านให้กับเด็ก ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคมและด้านสติปัญญา มีการบูรณาการการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็ก โดยมีหลักการและแนวทางการจัดประสบการณ์ ดังนี้

หลักการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย

  • จัดประสบการณ์เล่นและเรียนรู้อย่างหลากหลาย
  • เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและสนองความต้องการ ความสนใจ ความแตกต่างระหว่างบุคคลและตามสภาพแวดล้อมของสังคมที่เด็กอยู่อาศัย
  • จัดให้เด็กได้รับการพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก
  • จัดการประเมินพัฒนาการให้เป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์ พร้อมทั้งนำผลการประเมินมาพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง
  • พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก

แนวทางการจัดประสบการณ์ (ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 2560)

  • จัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับจิตวิทยาพัฒนาการและการทำงานของสมอง ที่เหมาะกับอายุ วุฒิภาวะและระดับพัฒนาการ เพื่อให้เด็กทุกคนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ
  • จัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับแบบการเรียนรู้ของเด็ก ให้เด็กได้ลงมือกระทำ เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้เคลื่อนไหว สำรวจ เล่น สังเกต สืบค้น ทดลอง และคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง
  • จัดประสบการณ์แบบบูรณาการ โดยบูรณาการทั้งกิจกรรม ทักษะ และสาระการเรียนรู้
  • จัดประสบการณ์ให้เด็กได้คิดริเริ่ม วางแผน ตัดสินใจ ลงมือกระทำ และนำเสนอความคิดโดยผู้สอนหรือผู้จัดประสบการณ์เป็นผู้สนับสนุนอำนวยความสะดวกและเรียนรู้ร่วมกับเด็ก
  • จัดประสบการณ์ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในบรรยากาศที่อบอุ่น มีความสุข และเรียนรู้การทำกิจกรรมแบบร่วมมือในลักษณะต่าง ๆ กัน
  • จัดประสบการณ์ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและอยู่ในวิถีชีวิตของเด็ก สอดคล้องกับบริบท สังคม และวัฒนธรรมที่แวดล้อมเด็ก
  • จัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมลักษณะนิสัยที่ดีและทักษะการใช้ชีวิตประจำวันตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และการมีวินัย ให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
  • จัดประสบการณ์ทั้งในลักษณะที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าและแผนที่เกิดขึ้นในสภาพจริงโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้
  • จัดทำสารนิทัศน์ (การจัดทำข้อมูลที่แสดงให้เห็นร่องรอยพัฒนาการการเรียนรู้จากการจัดกิจกรรม) ด้วยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคล นำมาไตร่ตรองและใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กและการวิจัยในชั้นเรียน
  • จัดประสบการณ์โดยให้พ่อแม่ ครอบครัว และชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งการวางแผน การสนับสนุน สื่อ แหล่งเรียนรู้ การเข้าร่วมกิจกรรมและการประเมินพัฒนาการ

การจัดกิจกรรมประจำวัน

การจัดกิจกรรมประจำวันสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี จะช่วยให้คุณครูหรือผู้จัดประสบการณ์รู้ว่าแต่ละวันจะต้องทำกิจกรรมอะไร เมื่อไร และอย่างไร ในการจัดกิจกรรมประจำวันสามารถจัดได้หลายรูปแบบ โดยจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำไปใช้ของแต่ละหน่วยงานและสภาพชุมชน คุณครูผู้สอนต้องคำนึงถึงการจัดกิจกรรมให้ครอบคลุมพัฒนาทุกด้าน

หลักการจัดกิจกรรมและขอบข่ายของกิจกรรมประจำวัน สามารถกำหนดระยะเวลาในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัยของเด็กในแต่ละวัน สามารถยืดหยุ่นได้ตามความต้องการและความสนใจของเด็ก ดังนี้ เด็กในช่วงอายุ 3-4 ปี มีความสนใจ 8-12 นาที, เด็กในช่วงอายุ 4-5 ปี มีความสนใจ 12-15 นาที และเด็กในช่วงอายุ 5-6 ปี มีความสนใจ 15-20 นาทีค่ะ

กำหนดระยะเวลาใน การจัดกิจกรรมประจำวัน
กำหนดระยะเวลาในการทำกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย

ดังนั้น แนวทางการจัดกิจกรรมควรจะเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดทั้งในกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ ที่สำคัญไม่ควรใช้เวลาต่อเนื่องนานเกินกว่า 20 นาที ซึ่งในการจัดกิจกรรมคุณครูควรจัดให้มีความสมดุลระหว่างกิจกรรมในห้องเรียนและนอกห้องเรียน กิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็ก กิจกรรมที่เป็นรายบุคคล กลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่ กิจกรรมที่เด็กเป็นผู้ริเริ่มและผู้สอนหรือผู้จัดประสบการณ์เป็นผู้ริเริ่ม และกิจกรรมที่ใช้กำลังและไม่ใช้กำลัง โดยให้จัดกิจกรรมให้ครบทุกประเภทค่ะ

ทั้งนี้ กิจกรรมที่ต้องออกกำลังกายควรจัดสลับกับกิจกรรมที่ไม่ต้องออกกำลังมากนัก เพื่อเด็กจะได้ไม่เหนื่อยเกินไปและที่สำคัญเด็กควรมีอิสระในการเลือกเล่นเสรี (เวลาในการทำกิจกรรมประมาณ 40-60 นาที) เพื่อช่วยให้เด็กรู้จักเลือกตัดสินใจ คิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ เช่น การเล่นตามมุม การเล่นกลางแจ้ง ฯลฯ

การกำหนดรูปแบบการจัดประสบการณ์

เป็นขั้นตอนที่คุณครูต้องกำหนดรูปแบบการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย รวมถึงนวัตกรรมที่ต้องใช้สอดแทรกลงในการจัดประสบการณ์ สำหรับรูปแบบที่นิยมใช้จะเป็นการจัดประสบการณ์เป็นรายสัปดาห์ และในบางสัปดาห์อาจใช้หน่วยตามความสนใจของเด็ก โดยพิจารณาข้อมูลจากหลักสูตรสถานศึกษา ตัวเด็ก สภาพแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม ประกอบกัน ทั้งนี้สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมค่ะ

เมื่อได้หน่วยการจัดประสบการณ์แล้ว คุณครูสามารถกำหนดรายละเอียดของสาระการเรียนรู้ให้เข้ากับหัวเรื่องหน่วยการจัดประสบการณ์ สาระการเรียนรู้ก็จะประกอบด้วยประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรรู้ ซึ่งในสาระที่ควรรู้ในหลักสูตรไม่ได้กำหนดเนื้อหาหรือรายละเอียดก็เพื่อให้สามารถยืดหยุ่นได้ง่าย สะดวกต่อการปรับให้เหมาะสมกับความสนใจและสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริงของเด็ก ตัวกำหนดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เด็กปฐมวัยจะแบ่งตามสาระ โดยแบ่งออกเป็น 4 สาระดังนี้ คือ

สาระที่ 1 เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก

สาระที่ 2 บุคคลและสถานที่แวดล้อม

สาระที่ 3 ธรรมชาติรอบตัวเด็ก

สาระที่ 4 สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก

การประเมินพัฒนาการ

การประเมินพัฒนาการ คือ การประเมินพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ -จิตใจ สังคม และสติปัญญาของเด็ก โดยถือเป็นกระบวนการต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมปกติที่จัดให้เด็กในแต่ละวัน ผลที่ได้จากการสังเกตพัฒนาการเด็ก และจัดทำข้อมูลที่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นร่องรอยของพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก จากการทำกิจกรรมทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ซึ่งหลักฐานและข้อมูลที่บันทึกเป็นระยะ ๆ จะสามารถบอกเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เด็กได้รับว่าเด็กเกิดการเรียนรู้และมีความก้าวหน้าเพียงใด และนำข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการเด็กมาพิจารณาปรับปรุงวางแผนการจัดกิจกรรมให้เด็กแต่ละคนได้รับการพัฒนาตามจุดมุ่งหมายในการประเมินพัฒนาการควรยึดหลักดังนี้

1. วางแผนการประเมินพัฒนาการอย่างเป็นระบบ

2. ประเมินพัฒนาการเด็กครบทุกด้าน

3. ประเมินพัฒนาการเด็กเป็นรายบุคคลอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ตลอดปี

4. ประเมินพัฒนาการตามสภาพจริงจากกิจกรรมประจำวันด้วยเครื่องมือที่หลายหลาย เช่น

Portfolio สำหรับเป็นรายบุคคล เช่น การเก็บชิ้นงานหรือภาพถ่ายเด็กขณะทำกิจกรรมเพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในงานที่เด็กทำ

การบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เด็กได้รับ เช่น การสอนแบบโครงการ(Project Approach) ที่สามารถแสดงให้เห็นร่องรอยเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กทุกด้าน ทั้งประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กและการสะท้อนตนเองของครู อาจบันทึกการสนทนาระหว่างเด็กกับครู เด็กกับเด็ก การบันทึกของครู การบรรยายของพ่อ-แม่ในรูปแบบจดหมาย (และไม่ควรใช้แบบทดสอบ)

5. สรุปผลประเมิน จัดทำข้อมูลและนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาเด็กสำหรับวิธีการประเมินที่เหมาะสมและควรใช้กับเด็กช่วงอายุ 3-6 ปี ได้แก่ การสังเกต การบันทึกพฤติกรรม การสนทนากับเด็ก การสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลจากผลงานเด็กที่เก็บอย่างมีระบบ

สิ่งสำคัญในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย คือ การยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ในการจัดประสบการณ์ จะต้องจัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับเด็กและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น เพื่อที่เด็กจะได้ฝึกฝนตนเองให้เหมาะกับชุมชนหรือท้องถิ่นรอบ ๆ ตัวเด็ก นอกจากนี้จะต้องจัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาตนเองได้อย่างมีศักยภาพและความสามารถ

ทั้งนี้คุณครูสามารถนำสาระการเรียนรู้มาบูรณาการจัดประสบการณ์ต่าง ๆ ให้ง่ายต่อการเรียนรู้สำหรับเด็กได้ อย่างเช่น ตัวอย่างกิจกรรมใบงานที่เรานำมาแนะนำกัน คุณครูหรือผู้ปกครองสามารถนำไปต่อยอดในการจัดประสบการณ์หน่วยการเรียนรู้เรื่อง บุคคลและสถานที่สิ่งแวดล้อม และหน่วยการเรียนรู้เรื่อง วันสำคัญได้

การจัดประสบการณ์ หน่วยการเรียนรู้เรื่อง วันสำคัญ
เรียนรู้เรื่องสิ่งของที่ใช้ในการถวายพระแบบสังฆทานผ่านกิจกรรมใบงาน

สิ่งที่เด็กควรรู้

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุก ๆ ปี มีเหตุการณ์สำคัญ คือ พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ในปัจจุบันวันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย กิจกรรมที่ทำกันในวันมาฆบูชาคือ ประชาชนจะประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัย

วันวิสาขบูชา วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา สำหรับชาวพุทธ เป็นวันหยุดราชการในหลายๆ ประเทศ อีกทั้งยังเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ ได้แก่ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นตรงกัน ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมการเกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ

วันอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก โดยการแสดงปฐมเทศนาพระธรรมที่มีชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" แก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ซึ่งได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ จนพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา วันอาสาฬหบูชาจึงถือเป็นวันแรกที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย

เอกสารอ้างอิง : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560,โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2560

ดาวน์โหลด
34 รายการ