ทำไมการเล่นจึงสำคัญสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน? การเล่นสำหรับเด็ก คือ การแสดงออกทางกายภาพ ผ่านประสบการณ์ และจินตนาการ ของตัวเด็ก ผสมผสานทักษะการสื่อสาร สะท้อนออกมาเป็นรูปแบบของการเล่น ทั้งเล่นคนเดียว และเล่นเป็นกลุ่ม ดังนั้น การเล่นจึงเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะ และ ส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ได้ง่ายที่สุด ผู้ปกครองหลายคนจึงรู้ว่าการเล่นนั้น มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก และ มีประโยชน์มากมาย แต่โดยปกติ เรามักจะไม่ค่อยเชื่อมโยงการเล่น กับการเรียนรู้ เลยอาจจะมีบางครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ โดยเน้นให้เวลากับการพัฒนาทักษะทางวิชาการ มากกว่าการเล่น เช่น การฝึกจำตัวอักษร การนับ การอ่าน การเขียน ฯลฯ ในบางครอบครัว ที่มีผู้สูงอายุเป็นผู้ดูแลเด็ก บ่อยครั้งที่มีผู้ปกครองมาปรึกษาครูแหม่ม ก็จะพบเจอกับปัญหาเดียวกัน คือ ปู่ ย่า ตา ยาย จะคอยห้ามปรามไปเสียทุกอย่าง เมื่อเด็กจะรื้อหรือเล่นอะไร เพราะอาจต้องคอยตามเก็บของเล่นอยู่ตลอดเวลา และเขาอาจจะมีความเชื่อว่า การเล่นของเด็ก เป็นเพียงการเล่นเพื่อให้ได้ความสนุกสนาน ไม่ได้ความรู้อะไร และไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของการเล่นสำหรับเด็กวัยอนุบาล ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการเรียนรู้ผ่านการเล่นมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กอย่างแท้จริง
ความสำคัญของการเล่นสำหรับเด็ก
การเล่นในเด็กก่อนวัยเรียน เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการเรียนรู้ผ่านการเล่น มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก การเล่นสำหรับเด็ก เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และเป็นกิจกรรมดึงความสนใจเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น การเล่นสำหรับเด็กยังเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมขณะเล่นด้วยกันกับผู้อื่น เด็กเรียนรู้ที่จะร่วมมือ ปฏิบัติตามกฎ เรียนรู้การปรับพฤติกรรม และการควบคุมตนเอง เมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นจะทำให้เด็กมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี
การเล่น บทบาทสมมติ สำหรับเด็ก เด็กจะเรียนรู้จากประสบการณ์ผ่านการเล่น ในขณะเล่น เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้และพัฒนาส่งเสริมทักษะความสามารถของตัวเอง ในการสื่อสารโต้ตอบในเชิงบวกกับผู้อื่น ผ่านมุมมองความคิด และ ใช้จินตนาการเสริม ต่อเติมเรื่องราวในการเล่น เช่น การใช้ภาษาในการสื่อสาร การรู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และที่ขาดไม่ได้คือ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น การที่เด็กเลือกเล่นอย่างอิสระทำให้เกิดแรงจูงใจภายใน บางครั้งเราอาจมองว่าการเล่นของเด็ก เป็นการเล่นแบบไม่มีจุดหมาย แต่หารู้ไม่ว่า การเล่นของเด็กในบางครั้ง ทำให้ตัวเด็กเองสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวได้ด้วยตัวเองอย่างไม่รู้ตัว เพราะเราสามารถสังเกตเห็นได้ว่า เด็กจะชอบมาเล่าเรื่องราวที่ตัวเองเล่น โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องถาม เช่น เด็กกำลังเล่นบทบาทสมมติเล่นขายของ เชื่อว่าผู้ปกครองหลาย ๆ บ้านคงจะต้องเจอกับ การถาม-ตอบกับเด็ก เหมือนที่ครูแหม่มมีประสบการณ์กับทั้งเด็กที่บ้าน และเด็กที่โรงเรียน คำถามปลายเปิด ที่ครูแหม่ม มักถามเด็กๆ ในการเล่น บทบาทสมมต คือ " เล่นอะไรกันอยู่คะ " จึงนำไปสู่บทสนทนา โต้ตอบมากมาย เช่น
เด็ก : หนูกำลังเล่นขายอาหารค่ะ จะรับอะไรดีคะ
ผู้ปกครอง : มีเมนูอะไรบ้างคะ
เด็ก : มีส้มตำ พิซซ่า น้ำปั่น ลูกค้าจะรับอะไรบ้างคะ
ผู้ปกครอง : ขอส้มตำเผ็ด ๆ แล้วก็น้ำส้มปั่นค่ะ
เด็ก : ทั้งหมด 100 บาท ค่ะคุณลูกค้า
...
สำหรับเด็ก 5-6 ปี ผู้ปกครองอาจจะทำแบงค์ 20 , 50 , 100 และเหรียญ 1 ,2 , 5 , 10 บาท มาใช้คู่กับการเล่น เพื่อเชื่อมโยงการเล่นกับการเรียนรู้ ให้เด็ก ๆ ลอง บวก ลบ เลข ไปในตัว โดยอาจสมมติ ซื้อของ 50 บาท ให้สตางค์ 100 บาท จะต้องทอนสตางค์เท่าไหร่ เป็นต้น หรือเราอาจจะใช้สตางค์จริง ๆ มาประกอบการเล่นก็ได้นะคะ
ส่วนในเด็กผู้ชายก็หนีไม่พ้นการเป็นเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ ที่คอยกำจัดคนไม่ดี แต่ในเด็กผู้ชาย คุณครู หรือผู้ปกครอง อาจจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมในการเล่นของเด็ก เพราะในบางครั้ง ขณะที่เด็กเล่นต่อสู้กัน อาจจะมีการพลั้งมือ จนเกิดเป็นความรุนแรงได้ ผู้ดูแลต้องคอยบอกและอธิบายกับเด็ก ๆ ว่า “นี่เป็นเพียงบทบาทสมมติ ถ้าเล่นชกต่อย หรือเตะกันให้สมมติ อย่าเล่นจริงจัง เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้” เป็นต้น
อย่างที่ครูแหม่มยกตัวอย่างข้างต้น เราสามารถเห็นได้ว่า ไม่ว่าการเล่นแบบไหน เด็ก ๆ จะมีการสนทนาผ่านกระบวนการคิด และกลั่นออกมาเป็นคำพูด โดยที่เด็กสามารถสนทนาได้เองเป็นเรื่องเป็นราว โดยที่เราไม่ต้องไปกำกับว่า หนูต้องพูดแบบนี้นะ เพียงแค่นี้ก็ทำให้การเล่นเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เกิดทักษะต่าง ๆ ที่พัฒนาผ่านการเล่น ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์เด็ก จากสิ่งที่เด็กสนใจ แสดงออกมาตามจินตนาการ โดยผู้ใหญ่อย่างเราจะเป็นผู้ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เด็ก ๆ นำพาไป เมื่อเด็กๆ เล่นกัน เด็กจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้ วิธีการโต้ตอบกับผู้อื่น และประพฤติตนในสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ
แต่ในปัจจุบันผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลา เด็กส่วนมากที่ครูแหม่มสอนจะอยู่กับคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย หรือพี่เลี้ยงเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าผู้ปกครองพอมีเวลา อย่าลืมให้เวลากับเด็กในการเล่น เพราะการเล่นในช่วงวัยอนุบาลมีความสำคัญต่อพัฒนาการของตัวเด็กเอง
พฤติกรรม การเล่น ที่เปลี่ยนไปตามช่วงอายุ ของเด็ก
3-6 เดือน เด็กในวัยนี้ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเด็กจะชอบขยับแขน ขา ไปมาเล่น ซึ่งในเด็กทารกกำลังเคลื่อนไหวหลายอย่างด้วยแขน ขา มือ เท้า ฯลฯ เด็กกำลังเรียนรู้และค้นพบว่าร่างกายของพวกเขาเคลื่อนไหวอย่างไร
2 ปี เด็กในวัยนี้เป็นช่วงที่เด็กจะเล่นคนเดียว ไม่สนใจที่จะเล่นกับคนอื่นและมีพฤติกรรมชอบดูคนอื่นเล่นแต่ไม่เล่นด้วยกัน
2+ ปี เด็กวัยนี้จะชอบนั่งเล่นอยู่ข้าง ๆ กัน นั่งใกล้กันกับเพื่อน มีมองและให้ความสนใจ แต่จะไม่เล่นด้วยกัน เรียกว่าการเล่นแบบคู่ขนาน
3-4 ปี เด็กในวัยนี้ เริ่มเล่นร่วมกัน และเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นระหว่างการเล่น แต่ยังไม่มากนัก เช่น เด็กอาจกำลังทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่อยู่ในชั้นเรียนเดียวกันหรือรอบ ๆ ตัวเอง แต่อาจไม่ได้โต้ตอบกับเด็กคนอื่นจริงๆ ยกตัวอย่างคือ เด็กทุกคนอาจเล่นเครื่องเล่นในสนามชิ้นเดียวกัน แต่ต่างคนต่างเล่น
4+ ปี เด็กวัยนี้จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากขึ้น เริ่มเล่นร่วมกับผู้อื่น ทั้งกิจกรรมและการเล่นหรือที่เราเรียกว่า การเล่นแบบร่วมมือ ผู้ปกครองควรเน้นย้ำเรื่องการแบ่งปัน การรู้แพ้ รู้ชนะและการให้อภัยกับเด็ก ๆ ด้วยนะคะ
ประโยชน์ของการเล่น
การเล่น เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก เมื่อเด็กเล่นจะส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลายให้เด็กดังนี้
- พัฒนาทักษะการเข้าสังคม ภาษาและการสื่อสาร
- เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม
- มีความสุข และสนุกสนาน
- พัฒนาทักษะทางกายภาพ
- สร้างความมั่นใจ
- รู้จักคิดแก้ปัญหา
- มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ
- การสนทนาโต้ตอบรู้จักการเจรจาต่อรอง
- รู้จักการปรับตัว กล้าเผชิญ
- ลองสิ่งใหม่ ๆ
- เข้าใจสถานการณ์ทางสังคม
- การค้นพบความสนใจของตัวเอง
เด็กมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีจากการเล่น เพราะฉะนั้น ในการเรียนรู้ผ่านการเล่นสำหรับเด็ก ผู้ปกครองต้องถอยออกมา ให้พื้นที่เด็กได้มีความเป็นอิสระ จะก่อให้เกิดการค้นพบ แม้ว่าสิ่งนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ปกครองคาดหวังไว้ แต่การปล่อยให้เด็ก ๆ เล่นอย่างอิสระ ไม่ถูกจำกัด จะทำให้เด็กมีโลกแห่งจินตนาการ เรามองดูเด็ก ๆ จัดการกับความท้าทายคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่เพียงแต่พัฒนาความมั่นใจในตนเองแต่ยังส่งผลไปยังความสามารถในด้านต่างๆ โดยที่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลควรออกมาจากตัวเด็กขณะทำกิจกรรม
ในฐานะผู้ปกครอง เราสามารถยืนดูอยู่ห่าง ๆ คอยดูแลเด็ก ๆ อย่างระมัดระวังขณะที่เด็กเล่น เมื่อสังเกตเห็นเด็กเล่น แล้วเกิดความผิดพลาด ปล่อยให้เด็กแก้ไขด้วยตัวเอง ให้กำลังใจหรือช่วยเหลือพวกเขา หากพวกเขาขอความช่วยเหลือ แต่หลีกเลี่ยงการบอกหรือลงมือทำให้ เด็กจะไม่เพียงแต่เรียนรู้ที่จะจัดการแก้ปัญหาด้วยตนเอง แต่ยังได้ปรับแต่งการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) คือ การชี้นำตนเอง มีวินัยในตนเอง ตรวจสอบตนเอง และคิดแก้ไขตนเอง และฝึกให้เด็กมีทักษะในการทำงาน ตั้งแต่วัยอนุบาล เพราะเราจะสังเกตได้จากพฤติกรรมการเล่นเลียนแบบบุคคลใกล้ตัว ที่เห็นในชีวิตประจำวัน เช่น การประกอบอาหาร หรือการเล่นเป็นช่างทำเล็บ เด็กจะแสดงพฤติกรรมจากประสบการณ์เดิมที่เคยเห็น และนำมาต่อยอดเชื่อมโยง เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เด็ก ได้สัมผัส ทดลอง สำรวจ เกี่ยวกับเครื่องมือต่าง ๆ ว่าใช้อย่างไร เอาไว้ทำอะไร นอกจากนี้ช่วยฝึกให้เด็กคิดอย่างสร้างสรรค์ หรือเรียนรู้วิธีคิดด้วยตัวเอง พัฒนาทักษะการสื่อสาร และมารยาททางกาย ผ่านการเล่นบทบาทสมมติ