เวลาถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้เรื่องนาฬิกาจะช่วยส่งเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็ก ได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของตัวเลขทั้ง 12 ตัวบนหน้าปัดนาฬิกา และยังได้ทบทวนการนับจำนวนตัวเลข 1-60 ที่เป็นตัวบอกนาทีหรือชั่วโมงได้อีกด้วย ที่สำคัญผู้ปกครองสามารถนำกิจวัตรประจำวันของเด็ก ๆ มาปรับใช้ในการสอน เกี่ยวกับเวลาในชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ ว่าใน 1 วัน ทำอะไรในช่วงเวลาไหนบ้าง ยกตัวอย่างเช่น
สอนเรื่องกลางวัน-กลางคืน
ครูแหม่มจะใช้ตัวอย่างง่าย ๆ จากการให้เด็กสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ตอนกลางวันสว่างและร้อนกว่าตอนกลางคืน หรือพระอาทิตย์จะขึ้นตอนกลางวัน ส่วนพระจันทร์ขึ้นตอนกลางคืน และในตอนกลางคืนจะมองเห็นดวงดาว ที่สำคัญเป็นเวลานอนพักผ่อนของเด็ก ๆ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเด็กสามารถแยกแยะความต่างของกลางวันกับกลางคืนได้ ก็จะช่วยให้เข้าใจในเรื่องเวลาและเชื่อมโยงกับกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ที่เค้าทำในแต่วันได้ง่ายขึ้นค่ะ
เรียนรู้ลำดับก่อนหลัง
การเรียนรู้ลำดับก่อนหลังสำหรับเด็กเล็ก ๆ ผู้ปกครองอาจใช้วิธีการเชื่อมโยงลำดับเวลาระหว่างวัน เพื่อให้เด็กเรียนรู้เรื่องเวลา จากการลำดับกิจกรรมที่ต้องทำก่อนหลัง เช่น เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วเด็ก ๆ ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยไปกินข้าว จากนั้นถึงจะออกไปเล่นกับเพื่อนได้ สิ่งสำคัญของวิธีนี้คือต้องทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กจดจำเวลาในการทำกิจวัตรประจำวันและเวลาของตัวเอง
ชวนเด็กดูนาฬิกา
เพราะเข็มที่อยู่บนนาฬิกาจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญ ที่ทำให้เด็กเข้าใจในเรื่องเวลาได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ ต้องเข้าเรียนตอนเข็มสั้นชี้ตรงที่เลข 8 หรือ เมื่อใดที่เข็มสั้นกับเข็มยาวชี้ไปที่เลข 12 ก็จะถึงเวลาทานข้าวกลางวันนะ เป็นต้น ผู้ปกครองควรพูดระบุเวลาพร้อมกับชี้ไปที่นาฬิกาทุกครั้งด้วยนะคะ เพื่อให้เด็กเกิดความเคยชินกับการดูนาฬิกาและเมื่อทำเป็นประจำทุกวัน เด็กก็จะค่อย ๆ เรียนรู้และเข้าใจเองค่ะ
เคล็ดไม่ลับในการเรียนรู้เรื่องเวลา
การนับเลข 1-60 วิธีนี้ผู้ปกครองควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนนะคะ ว่าเด็กสามารถเขียนและนับตัวเลข 1-60 ได้อย่างถูกต้อง เพราะตัวเลขเหล่านี้ จะช่วยให้เด็กสามารถนับเลขบนนาฬิกาได้ง่ายขึ้น หรือจะใช้หลักการท่องแม่สูตรคูณเลข 5 ที่เป็นการเพิ่มเลขที่ละ 5 ไปจนถึง 60 ก็จะช่วยได้เช่นกัน
Tip & Trickการฝึกนับจำนวนเพิ่มขึ้นทีละห้า จะช่วยให้เด็กมีความเข้าใจและทำให้การเรียนรู้ที่จะบอกเวลาได้ง่ายมากขึ้น สามารถให้เด็กฝึกได้โดยเขียนตัวเลขเพิ่มทีละห้าลงบนกระดาษโดยเริ่มที่จำนวน 5 ถึง 60 เช่น 5 10 15 20 25 30 35 40 45 50 55 60 ขณะที่เด็กเขียนตัวเลขให้เด็กท่องไปด้วยและตรวจสอบให้แน่ใจแล้วว่าชี้ให้เด็กเห็นว่าแต่ละหมายเลขลงท้ายด้วย 5 หรือ 0
เริ่มต้นสอนด้วยนาฬิกาอะนาล็อก ผู้ปกครองอาจจะสอนเรื่องการดูเข็มของนาฬิกา โดยให้เด็กค่อย ๆ นับจำนวนและเปรียบเทียบตัวเลขที่เปลี่ยนไปในแต่ละครั้ง ครูแหมม่แนะนำให้ใช้นาฬิกาที่มีขนาดใหญ่ มีเข็มชั่วโมง เข็มนาที และตัวเลขบนนาฬิกาที่ชัดเจน เพื่อช่วยให้เด็กมองเห็นได้ชัดและง่ายต่อการดู วิธีนี้เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไปนะคะ
สร้างข้อตกลงกับเด็ก ผู้ปกครองควรกำหนดเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ชัดเจน ครูแหมม่ขอยกตัวอย่าง เช่น ถ้าถึงเวลา 10.30 นาฬิกา ให้เด็กช่วยเตือนว่าถึงเวลาพาออกไปเล่นที่สนาม เพื่อเป็นการฝึกเด็กว่าเมื่อถึงเวลานี้ เด็กจะได้ทำอะไร นอกจากนั้นยังจะช่วยให้เด็ก ๆ กระตือรือร้นอีกด้วยนะคะ
สอนให้เด็กเห็นถึงความแตกต่างเรื่องเวลา อย่างการแบ่งเวลา เช้า เที่ยง เย็น และกลางคืน ผู้ปกครองควรนำเวลาในแต่ละช่วงมาเชื่อมโยงกับกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็ก เช่น กิจกรรมในตอนเช้าเราต้องตื่นนอน อาบน้ำ แปรงฟัน และทานอาหารเช้า เมื่อถึงเวลาเที่ยงเราต้องทานอาหารและนอนกลางวัน ส่วนในตอนกลางคืนเราจะอ่านหนังสือแล้วไปเข้านอนกัน ในระหว่างที่กำลังทำกิจวัตรประจำวันผู้ปกครองอาจถามเด็ก ๆ ว่า “ ควรทำอะไรในตอนเช้า” หรือ “ ควรทำอะไรในตอนกลางคืน” เพื่อเป็นการทบทวนเรื่องเวลาและความจำให้กับเด็ก หรือจะทำเป็นแผนภูมิตารางกิจวัตรประจำวันเพื่อให้เด็กเห็นภาพสิ่งต่าง ๆ ที่เค้าทำในระหว่างวันได้มากขึ้นค่ะ
นอกจากการสอนให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องเวลาแล้ว คุณครูและผู้ปกครอง ควรสอนให้เด็กเห็นความสำคัญของการ ตรงต่อเวลา ด้วยนะคะ เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็ก ๆ เป็นคนตรงต่อเวลาและมีระเบียบวินัยในตนเอง ในบทความต่อไปผู้เขียนจะมาชวนประดิษฐ์นาฬิกาสำหรับประกอบการเรียนรู้เรื่องเวลาของเด็ก ๆ กันค่ะ พร้อมคำอธิบายในการสอนเรื่องการนับเวลา ซึ่งคุณครูสามารถนำไปประยุกต์เป็นสื่อการสอนได้ด้วยนะคะ