การจัดการเรียนรู้แบบคละอายุ โดยส่วนมากผู้ปกครองจะพบเห็นได้บ่อยในช่วงเปิดซัมเมอร์ หรือการจัดกิจกรรมประเภท Workshop ซึ่งผู้ปกครองอาจจะสงสัยว่า ทำไมเขาถึงนำเด็กมาเรียนรวมกัน และเขามีวิธีการอย่างไรนั้น เรามาดูกันค่ะ
การเรียนร่วมแบบคละอายุ หมายถึง เด็กที่มีอายุต่างกันแต่สามารถเรียนรู้ และอยู่ในชั้นเรียนเดียวกันได้ ซึ่งการเรียนร่วม เด็กทุกคนจะต้องได้รับการจัดการศึกษาโดยเท่าเทียมกัน ทั้งสภาพแวดล้อม การดูแล การสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ และมีส่วนร่วม โดยแชร์ประสบการณ์ร่วมกันในทุกด้านของการเรียนรู้
การจัดการเรียนแบบคละอายุ สำหรับเด็กวัยอนุบาล โดยปกติโรงเรียนทั่วไป จะแบ่งเด็กตามเกณฑ์อายุ และจำแนกไปตามระดับชั้น หรือบางโรงเรียนก็จะจัดแบบกลุ่มเด็กปกติเรียนร่วมกับเด็กพิเศษ วันนี้ครูแหม่มจะมาเล่าถึง ข้อดี และแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบคละอายุ สำหรับเด็กวัยอนุบาล จากประสบการณ์ของครูแหม่มกันค่ะ
เมื่อพูดถึงการจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ไม่จำเป็นต้องจัดเด็กเป็นกลุ่มแบบตามอายุเท่านั้น แม้จะเป็นห้องเรียนที่มีแต่เด็กวัยเดียวกัน ก็ใช่ว่าจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม หรือด้านสติปัญญาของเด็กได้ดีเสมอไป เท่าที่ครูแหม่มสังเกต และลองเปรียบเทียบดู ระหว่างห้องเรียนแบบปกติที่เด็กมีเกณฑ์อายุเท่า ๆ กัน กับ ห้องเรียนร่วม ที่เด็กมีอายุต่างกันเฉลี่ย 1-2 ปี
ครูแหม่มสังเกตเห็นว่า การเรียนร่วม ของเด็กที่มีอายุแตกต่างกันนั้น ทำให้เด็กได้แสดงออกทางพฤติกรรมเฉพาะของแต่ละบุคคลอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะออกมาทางคำพูด สีหน้า หรือท่าทาง ซึ่งในมุมมองของครูแหม่มเองคิดว่า ยิ่งเด็ก ๆ แสดงพฤติกรรมออกมามากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราได้เห็นข้อดีและข้อเสียของเด็ก ๆ และสามารถนำพฤติกรรมที่ไม่ดีบางอย่าง มาปรับปรุงแก้ไขไปในทางที่ดีได้ ดีกว่าการที่ตัวเด็กไม่แสดงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมาให้เราเห็น
การอยู่ร่วมกันของเด็กที่มีอายุต่างกัน การแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กเล็ก และเด็กโต จะค่อนข้างแตกต่างกัน มีงอแงบ้างในสถานการณ์ และเรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน ผู้ปกครองหรือครูผู้ดูแล ต้องค่อย ๆ สอดแทรกคำสอน บอกข้อดี ข้อเสียของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เด็กแสดงออกมา ให้เค้าได้เข้าใจว่า สิ่งไหนควรทำ และสิ่งไหนไม่ควรทำ
อย่างไรแล้ว เราก็ยังสังเกตเห็นได้ว่า ในห้องเรียนนั้นจะมีทั้งเด็กที่มีวินัย รู้หน้าที่ ปฏิบัติตามคำสั่งได้ดี หรือบางคนที่อาจไม่มีวินัย และดูแลช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลยก็มี เมื่อเด็ก ๆ อยู่ในห้องเรียนที่มีการเรียนแบบคละอายุ ผู้ดูแลหรือผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก ๆ ให้รู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลังเป็นลำดับในทุก ๆ วันได้ เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เองโดยอัตโนมัติ สำหรับเด็กที่โตกว่า ครูแหม่มก็จะพยายามฝึกให้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย และอาจมีบางกิจกรรมที่จัดให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียง หรือสอดคล้องกันกับเด็กเล็ก เพื่อให้เด็กที่โตกว่าเป็นต้นแบบให้กับน้องเล็กต่อไป
ข้อดีของการเรียนร่วมแบบคละอายุ
การจัดการเรียนรู้ในเด็กที่มีเกณฑ์อายุแบบคละกลุ่ม เด็ก ๆ จะได้เล่น เรียนรู้ กับกลุ่มเด็กที่มีอายุและกิจกรรมที่หลากหลาย เด็กจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของห้องเรียน ดังนั้นการจัดการชั้นเรียนสำหรับเด็กปฐมวัย จึงเป็นการจัดเตรียม สภาพแวดล้อมทางกายภาพทั้งภายใน และภายนอกห้องเรียน เป็นบรรยากาศทางสภาพแวดล้อมที่ดีให้เหมาะสมกับทั้งเด็กเล็กและเด็กโตโดยจำแนกได้ดังนี้
- เด็กได้ถ่ายทอดประสบการณ์ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากกันและกัน เด็กโตจะส่งต่อข้อมูลและความรู้ที่มีจากประสบการณ์เดิมให้เด็กเล็ก
- เด็กเล็กได้เรียนรู้ความคาดหวังทางสังคม และพฤติกรรมที่เหมาะสมเมื่ออยู่ร่วมกับเด็กโต เด็กโตจะกำหนดสิ่งเหล่านี้ผ่านแรงกดดันทางสังคมในกลุ่มโดยไม่รู้ตัว
- เด็กโตได้พัฒนาทักษะการเป็นผู้นำ และยังแสดงให้เห็นถึงทักษะการเอาใจใส่และการดูแลน้องในบางครั้ง เมื่อผู้ดูแลให้เด็กโตดูแลช่วยเหลือน้อง ๆ เล็กน้อย
- กรณีถ้าเด็กเรียนอยู่ในสถานศึกษา ในบางที่อนุญาตให้ครูผู้สอนคนเดิมตามขึ้นไปสอนเด็ก ในระดับชั้นที่สูงขึ้นได้นานกว่าหนึ่งปี ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่มากขึ้นในทุกด้านอย่างสม่ำเสมอ
การจัดการเรียนร่วมแบบคละอายุ สำหรับเด็ก
ในการสอนของครูแหม่มมีการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนของเด็กเรียนร่วมแบบคละอายุ ให้สอดคล้องกับ ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทั้ง 3 แกนหลัก คือ
ความรู้พื้นฐานทั่วไป เป็นการปูพื้นฐานให้เด็กได้เรียนรู้ เนื้อหาที่จำเป็นและตอบสนองต่อเป้าหมายในการพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพโดยบูรณาการเนื้อหาผ่านการเล่น
ความสามารถและทักษะที่เด็กควรมี ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยเด็กเล็กหรือเด็กโตจะมีการปรับตัว การริเริ่ม การมีภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ
คุณสมบัติและเอกลักษณ์ที่เด็กควรมี โดยเน้นการเรียนรู้แบบการลงมือทำด้วยตนเอง ให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ คิดวิจารณญาณ การแก้ปัญหา มีทักษะสื่อสาร และสารสนเทศ คือความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการส่งเสริม ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่เชื่อมโยงกับ STEAM และ EF
แนวทางการจัดการเรียนแบบคละอายุ
การจัดการเรียนการสอนแบบคละอายุมีประโยชน์มากมาย แต่อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ปกครอง หรือครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอน ครูแหม่มมีแนวทางที่จะช่วยให้การสอนง่ายขึ้นดังนี้ค่ะ
กำหนดกิจกรรมการสอนปลายเปิด อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การใช้สื่อหรือของเล่น ที่เด็กต่างวัยเล่นร่วมกันได้ เช่น ตัวต่อบล็อก เลโก้ จิ๊กซอว์ แป้งโด ฯลฯ สื่อเหล่านี้ครูแหม่มเชื่อว่าหลาย ๆ บ้าน หรือทุกโรงเรียนต้องมี เด็กในวัย 3-6 ปี ก็ยังคงให้ความสนใจกับสื่อประเภทนี้และมีการเรียนรู้มากมายจากสิ่งของเหล่านี้
จัดการเรียนรู้โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง สามารถตอบสนองความต้องการของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี การเรียนรู้ด้วยสื่อการสอน ที่มีระดับความยากง่ายต่างกัน เปิดโอกาสให้เด็กเล็กได้รับประสบการณ์ใหม่จากเด็กโต และเด็กโตได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ของการเป็นผู้นำ โดยคุณครูหรือผู้ปกครอง เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เด็กได้สำรวจ สืบเสาะหาความรู้ด้วยตัวเอง ทั้งยังช่วยกระตุ้นความสนใจให้เด็กได้ดี
ส่งเสริมการเรียนรู้ของกันและกัน ยกตัวอย่างกิจกรรมง่ายๆ ที่ครูแหม่มใช้ในศูนย์วิจัยฯ อย่างกิจกรรมระบายสี หากเด็กโตระบายสวยและได้รับคำชม เด็กเล็กก็จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบโดยอัตโนมัติ เพื่อที่จะได้รับคำชมตามพี่ แล้วเมื่อพี่เห็นน้องทำตาม พี่ก็จะคอยแนะนำวิธีระบายให้น้อง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ให้เด็ก ๆ ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างธรรมชาติ โดยไม่เข้าไปสั่งให้เด็กทำอย่างโน้นอย่างนี้ ถึงเด็กจะมีอายุต่างกันแต่ความสามารถและทักษะที่ต่างกันก็ทำให้เด็กเล็กและเด็กโตอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนเข้าสู่บทบาทความเป็นผู้นำและผู้ตามตามความเหมาะสม
การเรียนร่วมแบบคละอายุ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เป็นอีกวิธีที่เป็นทางเลือกให้สำหรับเด็ก ๆ ในการเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ไม่เพียงแต่เพิ่มแรงจูงใจ และการมีส่วนร่วมเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะทางสังคม เด็กจะเรียนรู้ เข้าใจมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งนี้สามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงบวกในกลุ่มเพื่อน ช่วยให้เด็กเรียนรู้การทำงานเป็นทีม ยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล ยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน และได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ