หลายวันก่อน ทีมงาน Youngciety บอกครูแหม่มว่า มีสมาชิกทักมาถามถึง แนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง สัญลักษณ์ ในเด็กก่อนวัยเรียน ว่ามีวิธีการและแนวทางการสอนอย่างไรบ้าง ครูแหม่มเลยได้แนะนำบทความที่เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ไปอย่าง แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ สำหรับเด็กปฐมวัย และ ภาพสัญลักษณ์ สำหรับเด็กปฐมวัย แต่คิดไปคิดมา จริง ๆ แล้วเรื่องสัญลักษณ์กับการจัดประสบการณ์เรียนรู้ ผู้ปกครองสามารถเตรียมความพร้อม และสอนให้เด็กทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาพสัญลักษณ์ ที่บ้านได้เอง ก่อนที่เด็ก ๆ จะเข้าโรงเรียน วันนี้ครูแหม่มเลยจะมาแนะนำแนวทางการสอนในเรื่องของสัญลักษณ์ที่เด็ก ๆ ควรรู้ ให้กับผู้ปกครองได้นำไปใช้เพิ่มเติมกันค่ะ
วิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ภาพสัญลักษณ์ให้กับเด็ก
การส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ กระตุ้นพัฒนาการด้านการสื่อสารทางภาษาสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะดูง่ายและมีความชัดเจน เด็กในวัยนี้สามารถจดจำภาพได้ดี ในช่วงเวลาที่เด็กอยู่บ้าน เด็กจะเรียนรู้สิ่ง ๆ ต่างจากคำพูดของผู้ปกครอง แต่สำหรับครูแหม่มแล้ว จะสอนควบคู่กัน ทั้งให้เด็กดูภาพสัญลักษณ์และพูดอธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้เด็กรู้และเข้าใจ
ครูแหม่มจะเริ่มสอนจากสิ่งของที่เด็กควรรู้ภายในบ้าน อย่างสิ่งของภายในครัวที่เด็กไม่ควรใช้ เช่น มีด กรรไกร เตาแก๊ส รูปลั๊กไฟต่าง ๆ และอธิบายบอกเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรใช้ จากนั้นครูแหม่มก็จะนำสติ๊กเกอร์ที่เป็นสัญลักษณ์ห้ามหรือเตือนให้ระวัง มาติดตรงบริเวณนั้น ๆ แล้วพูดกับเด็ก ๆ ว่าถ้าเห็นสัญลักษณ์นี้ต้องห้ามจับนะ เป็นต้นค่ะ
นอกจากนี้ก็จะเป็นของเล่น ซึ่งของเล่นบางชิ้นจะมีภาพไอคอนเล็ก ๆ ที่เป็นภาพสัญลักษณ์ห้ามนำเข้าปาก แสดงอยู่บนกล่อง ก่อนเล่นของเล่น ครูแหม่มจะให้เด็กดูภาพ พร้อมทั้งพูดอธิบายว่าภาพนี้มีความหมายว่าอะไร และตามด้วยเหตุผลว่าเพราะอะไรทำไมถึงห้ามนำเข้าปาก
ภาพสัญลักษณ์ที่เด็กก่อนวัยเรียนควรรู้
ครูแหม่มขอยกตัวอย่างภาพสัญลักษณ์พื้นฐานที่เด็กจะต้องเรียนรู้และใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ป้ายห้องน้ำที่แบ่งแยก ชาย หญิง ด้วย ภาพสัญลักษณ์ รูปผู้ชายและผู้หญิงใส่กระโปรง เพียงแค่นี้ ก็สามารถสื่อความหมายได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และทำให้เด็กจดจำได้ดี ในการสอน ครูแหม่มจะแบ่ง ภาพสัญลักษณ์ ออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของเด็ก ดังนี้
ภาพสัญลักษณ์พื้นฐาน เครื่องหมายจราจรสัญลักษณ์เหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเด็ก แต่จริง ๆ แล้วแทบจะเป็นภาพสัญลักษณ์ ที่พบเจอได้ง่ายในชีวิตประจำวันของตัวเด็กเอง ไม่ว่าจะเป็นจากการนั่งรถหรือเดินข้ามถนนไปพร้อมกับผู้ปกครอง เป็นต้น
ภาพสัญลักษณ์พื้นฐาน เครื่องหมายจราจร จะใช้เป็นภาพสัญลักษณ์สากล เน้นความชัดเจนของการสื่อความหมาย เข้าใจง่าย สีสันสะดุดตา ทำให้ง่ายต่อการอธิบายให้เด็กรับรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของสัญลักษณ์ เช่น ถ้าผู้ปกครองเดินทางอยู่บนท้องถนนกับเด็ก ก็สามารถชวนเด็กสนทนาพูดคุยเกี่ยวกับสัญญาณไฟจราจรได้ เมื่อรถหยุด ไฟจราจรจะเป็นสีอะไร หรือเมื่อรถเคลื่อนตัว ไฟจราจรจะเปลี่ยนเป็นสีอะไร และถ้าไม่ทำตามจะเป็นอย่างไร เป็นต้น
ภาพสัญลักษณ์พื้นฐาน สถานที่ต่าง ๆภาพสัญลักษณ์เหล่านี้ จะแสดงให้เข้าใจโดยไม่ต้องใช้ตัวหนังสือหรือข้อความ ที่เราพบเห็นกันบ่อย ๆ ก็จะเป็นภาพสัญลักษณ์ภายในอาคาร เช่น ห้องน้ำ สถานีรถไฟ โรงพยาบาล ฯลฯ และตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น ทะเล ภูเขา ชายหาด อุทยาน ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ปกครองพาเด็กไปท่องเที่ยวทะเล ขณะที่นั่งในรถอาจให้เด็กช่วยมองหาป้ายบอกสถานที่ที่เราจะไป โดยก่อนไปเที่ยวผู้ปกครองอาจจะนำภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้เด็กดู และชวนเด็กคุย โดยใช้คำถามและให้เด็กตอบเกี่ยวกับภาพสัญลักษณ์ นอกจากเด็กจะได้ความรู้ แล้วยังสามารถสร้างความสนุก และความตื่นเต้นให้เด็ก ๆ ได้อีกด้วย
หมวดหมู่นี้ ครูแหม่มจะรวมภาพสัญลักษณ์ที่ผู้ปกครองควรรู้เข้าไปด้วย อย่างสัญลักษณ์เพื่อความปลอดภัยที่แปะไว้บนของเล่นของเด็ก ๆ เช่น มาตรฐาน CE สัญลักษณ์นี้จะเห็นได้บนกล่องของเล่นของเด็ก ๆ เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า ของเล่นชิ้นนี้มีความปลอดภัย หรือถ้าเป็นสัญลักษณ์รูปหัวสิงโต Lion Mark เครื่องหมายนี้ ก็แสดงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของของเล่นเหมือนกัน
ภาพสัญลักษณ์เตือนภัย ข้อห้ามต่าง ๆ มีไว้แจ้งเตือนถึงอันตราย ข้อห้ามตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เราต้องปฏิบัติตาม ยกตัวอย่างเช่น ป้ายห้ามส่งเสียงดังในห้องสมุด หรือ ป้ายห้ามบันทึกภาพในโรงหนัง เป็นต้น ส่วนสัญลักษณ์เตือนข้อควรระวัง จะบ่งบอกถึงความอันตราย หากเราใช้ผิดประเภท จะเห็นได้ตามผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ ผงซักฟอก สเปรย์กำจัดแมลง ฯลฯ
นอกจากภาพสัญลักษณ์แล้ว การเรียนรู้เกี่ยวกับสีของป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ เด็กก็ควรรู้ไว้เช่นกัน เพราะบางป้ายที่มีสัญลักษณ์ภาพเหมือนกัน แต่ใช้สีคนละสี ความหมายของป้ายก็เปลี่ยนเหมือนกัน ครูแหม่มแนะนำว่า เรื่องนี้น่าจะเหมาะกับเด็กโตขึ้นมาหน่อย อาจเป็นเด็กที่มีอายุ 4 ปีขึ้นไป ซึ่งป้ายสัญลักษณ์ส่วนใหญ่ มักนำสีเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการในการอธิบาย ความหมายหรือแบ่งประเภทของป้าย ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากภาพแล้ว สีก็ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ ในการบอกจุดประสงค์ของป้ายสัญลักษณ์ ได้อย่างรวดเร็ว สีเป็นสิ่งที่เราสามารถสังเกต และจดจำได้ง่ายมากที่สุด ครูแหม่มจะอธิบายคร่าว ๆ ดังนี้ค่ะ
ป้ายสีแดง หมายถึง การหยุด หรือห้าม และยังใช้กับภาพสัญลักษณ์อุปกรณ์ฉุกเฉิน อย่างเช่น ป้ายถังดับเพลิง ป้ายสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
ป้ายสีเหลือง หมายถึง การเตือน เพื่อให้เตรียมความพร้อม หรือระวังอันตราย เช่น ระวังวัตถุสารพิษ ไฟ หรือบอกถึงเขตทางผ่านที่อันตราย
ป้ายสีน้ำเงิน หมายถึง การบังคับให้ต้องปฏิบัติ เช่น ป้ายสวมหมวกกันน็อค หรือ ป้ายคาดเข็มขัดนิรภัย
ป้ายสีเขียว หมายถึง ความปลอดภัย ใช้เกี่ยวกับสัญลักษณ์ ทางหนีไฟ ทางออกฉุกเฉิน หน่วยกู้ภัย และจุดปฐมพยาบาล
เมื่อเด็กได้เรียนรู้การใช้สีสำหรับป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ ผู้ปกครองหรือครู อาจถามย้ำเพื่อทบทวน โดยใช้คำถามนำเด็ก ๆ ว่า ป้ายสัญลักษณ์ ที่เด็กเห็นมีกี่สี มีสีอะไรบ้าง แล้วรู้ไหมว่า ทำไมถึงมี 4 สี และแต่ละสี หมายถึงอะไร ลองให้เด็กตอบด ูตามความคิดที่เด็กนำเสนอ หลังจากนั้น ผู้ปกครอง หรือ ครูอธิบายเพิ่มเติ่มให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจอย่างง่าย
ในเด็กช่วงวัยก่อนเข้าเรียน หรือวัยอนุบาล เป็นวัยที่ชอบค้นคว้า ขี้สงสัย และถามเพื่อให้ได้คำตอบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่า สมองเด็กกำลังพัฒนาไปในทางที่ดี การเรียนรู้ความหมายจาก ภาพสัญลักษณ์ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถช่วยกระตุ้น พัฒนาการ และปูพื้นฐานในการเรียนรู้วิธีการอ่านให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น เราสามารถใช้ภาพสัญลักษณ์ ฝึกให้เด็กได้ตั้งคำถาม หรือถามในสิ่งที่สงสัย และอยากรู้ แล้วยังส่งเสริมทักษะการจดจำสัญลักษณ์ พร้อมยังช่วยให้เด็กได้ใช้ภาษา ในการสื่อสารออกมาตามความคิดของเด็ก ภาพสัญลักษณ์เป็นเครื่องมือช่วยให้ครูได้สอนเด็กได้ดีกว่าการพูด ที่เป็นนามธรรม เนื่องจากภาพสัญลักษณ์สามารถช่วยพัฒนาความเข้าใจของเด็ก ช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดีกว่านั่นเอง วันนี้ครูแหม่มมี Flash cards ภาพสัญลักษณ์พื้นฐาน มาให้ผู้ปกครองได้ดาวน์โหลด สำหรับนำไปปูพื้นฐานให้เด็ก ๆ ได้ที่บ้านอย่างง่าย ๆ