เชื่อว่าในอดีตคุณพ่อคุณแม่และคุณครูในวัยเด็ก ต้องเคยได้เล่นเดินกะลากันมาบ้างแล้ว ครูโอ๋เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยเล่นเช่นกันค่ะ ซึ่งการเดินกะลากิจกรรมการละเล่นของไทย เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ที่ช่วยส่งเสริมทักษะการทรงตัวให้เด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี แถมยังสนุกสนานอีกด้วย แต่การเดินด้วยกะลานั้นต้องใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ของเท้าคีบเชือกไว้ เมื่อเดินซอกนิ้วกับเชือกจะเสียดสีกัน สำหรับเด็กเล็กอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเจ็บที่ซอกนิ้วเท้าเพราะเนื้อเด็กค่อนข้างบอบบาง วันนี้ครูโอ๋จึงหาวัสดุที่สามารถนำมาใช้แทนกะลามาแนะนำคุณพ่อคุณแม่และคุณครู นำไปประดิษฐ์เล่นกับเด็ก ๆ ได้เหมือนกับกะลาวิธีการเล่นก็เหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันที่ไม่ต้องใช้นิ้วคีบ สามารถวางเท้าได้เต็มฝ่าเท้า อาจจะมีความสูงกว่ากะลานิดหน่อยเพิ่มความท้าทายนั่นก็คือ กระป๋อง นั่นเองค่ะ รับรองว่าเด็ก ๆ ต้องตื่นเต้น สนุกสนานอย่างแน่นอน
กิจกรรมเดินกระป๋อง (bucket-stilts) ที่ครูโอ๋ได้แนะนำ เป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกทักษะการทรงตัวและสมาธิของเด็กได้ดี เพราะขณะที่ก้าวเดินบนกระป๋อง เด็กต้องใช้สมาธิในการทรงตัวอย่างมากเพื่อให้ร่างกายเคลื่อนที่ได้อย่างสมดุล แล้วยังใช้กล้ามเนื้อมือกับเท้าให้สัมพันธ์กันขณะที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอีกด้วย เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมแล้วมาเริ่มทำกันเลยค่ะ
อุปกรณ์
- 1กระป๋องสี สูงไม่เกิน 12 เซนติเมตร 2 กระป๋อง (หากบ้านไหนไม่มีกระป๋องสีสามารถใช้กระป๋องอื่นมาแทนได้นะคะ)
- 2เชือกลูกเสือ 2 เส้น
- 3ตะปูคอนกรีต
- 4ค้อนตีตะปู
- 5ไม้บรรทัด
- 6กระดาษ A4
- 7ลังกระดาษ
- 8กาวลาเท็กซ์
- 9กรรไกร
- 10พู่กัน
- 11สีอะคริลิค
- 12ปากกาเมจิก
- 13Pattern เท้าสัตว์
ขั้นตอนการทำ
1. คว่ำกระป๋องลงโดยให้ก้นกระป๋องอยู่ด้านบน ใช้ไม้บรรทัดวางให้อยู่กึ่งกลางของกระป๋อง จากนั้นใช้ปากกาเมจิกมาร์คจุดที่ขอบกระป๋องทั้งสองด้าน
ขั้นตอนนี้สำคัญมากนะคะ เพราะถ้าวัดไม่ตรงกึ่งกลางจะทำให้รูร้อยเชือกเบี้ยวได้ค่ะ และหลีกเลี่ยงการมาร์คจุดบริเวณรอยต่อของกระป๋อง เพราะจะทำให้เจาะรูได้ยากค่ะ
2. นอนกระป๋องลง แล้ววัดจากจุดที่เรามาร์คไว้ในขั้นตอนแรกลงมา 2 เซนติเมตร ทำการมาร์คจุดอีกครั้ง เราจะเจาะรูในจุดนี้กันค่ะ ทำแบบนี้ทั้งสองด้านเลยนะคะ
3. มาถึงขั้นตอนในการเจาะรูแล้วค่ะ ใช้ตะปูเจาะรูตรงจุดที่มาร์คไว้ในขั้นตอนที่ 2 ทั้งสองด้าน ที่สำคัญคือรูต้องใหญ่พอให้ร้อยเชือกเข้าไปได้ด้วยนะคะ
4. นำกระดาษ A4 มาติดรอบกระป๋อง แล้วตัดกระดาษส่วนเกินออกให้เรียบร้อย
5. จากนั้นนำกระป๋องมาทาบลงบนกระดาษ A4 ใช้ปากกาเมจิกวาดและตัดตามขนาดของกระป๋อง
6. นำแผ่นวงกลมที่ตัดไว้มาติดลงบนลังกระดาษ แล้วตัดตามขนาดกระดาษวงกลมให้เรียบร้อย
7. ปริ้น Pattern เท้าสัตว์ลงบนกระดาษ A4 (สามารถดาวน์โหลด Pattern เท้าสัตว์ต่าง ๆ ได้ที่ด้านล่างของบทความค่ะ) ระบายสี Pattern และตัวกระป๋องให้สวยงาม
8. ตัด Pattern มาติดลงบนลังกระดาษ แล้วใช้กรรไกรตัดตามรอยออกมา
9. ใช้ตะปูเจาะกระดาษในจุดที่เราทำการเจาะกระป๋องไว้ก่อนหน้านี้ แล้วนำชิ้นส่วนต่าง ๆ มาติดลงบนกระป๋องให้สวยงาม
10. ตัดเชือกเสร็จแล้วร้อยเข้ารูที่เราเจาะไว้ แล้วมัดปมบริเวณปลายเชือกด้านในให้เรียบร้อย (ทำเหมือนกันทั้งสองเส้น) เพียงเท่านี้เราก็จะได้อุปกรณ์การเดินกระป๋อง ไว้สำหรับทำกิจกรรมแล้วค่ะ
วิธีการเตรียมสนาม
- เตรียมกรวยกีฬาทั้งหมด 8 อัน
- นำกรวยมาวางเป็นรูปบวก โดยให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เมตร จากนั้นนำกรวยที่เหลือวางให้เป็นวงกลมตามภาพด้านล่าง เพียงเท่านี้เราก็ได้สนามไว้สำหรับทำกิจกรรมแล้วค่ะ
วิธีการเล่น
1. ให้เด็กจับเชือกขึ้นให้ตึง แล้วใช้เท้าเหยียบบนกระป๋อง ทั้ง 2 ข้าง
2. ให้เด็กก้าวเท้าไปด้านหน้าทีละข้างอย่างช้า ๆ ขณะที่ยกเท้าควรให้เด็กดึงเชือกขึ้นให้ตึง โดยที่กระป๋องต้องแนบกับฝ่าเท้าตลอด เดินซิกแซกอ้อมกรวยเป็นวงกลม จนกลับมาที่จุดเริ่มต้น
ขณะเล่นควรใส่รองเท้าผ้าใบ เพราะบริเวณก้นของกระป๋องมีขอบที่แข็งจะทำให้เท้าเจ็บได้ค่ะ
เนื่องจากกิจกรรมนี้ช่วยฝึกการทรงตัว ซึ่งเด็กแต่ละช่วงอายุจะมีการทรงตัวที่แตกต่างกันออกไป คุณพ่อคุณแม่และคุณครูสามารถแบ่งการเล่นในแต่ละช่วงอายุได้ดังนี้
เด็กอนุบาล 1 (3-4 ปี) เด็กช่วงวัยนี้การทรงตัวของเค้าจะยังทรงตัวได้ไม่ดีนัก เราควรให้เค้าฝึกเดินตรงไปข้างหน้าแล้วเดินกลับอย่างช้า ๆ ก่อนนะคะ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถประคองเด็กขณะก้าวเท้าได้ค่ะ
เด็กอนุบาล 2 (4-5 ปี) การทรงตัวเริ่มทำได้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มความยากขณะฝึก เราสามารถนำกรวย 3 อันมาวางเรียงต่อกันเป็นแถว โดยให้แต่ละกรวยห่างกันประมาณ 5 เมตร แล้วให้เด็กเดินซิกแซกอ้อมกรวยไปกลับค่ะ
เด็กอนุบาล 3 (5-6 ปี) เริ่มมีการทรงตัวได้ดีแล้ว สามารถพาเด็ก ๆ เล่นตามวิธีการเล่นของเราด้านบนได้เลยค่ะ
เมื่อเด็ก ๆ เล่นตามวิธีการเล่นของเราแล้ว คุณพ่อคุณแม่และคุณครูอย่าลืมปล่อยให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน เพื่อเสริมสร้างจินตนาการที่ดีของเด็กนะคะ และเมื่อทำกิจกรรมเสร็จแล้วควรให้เค้าช่วยเก็บอุปกรณ์เข้าที่ให้เรียบร้อยด้วยค่ะ
ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์
ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรมเดินกระป๋อง
- เชือกลูกเสือ 2 เส้น ราคาประมาณ 40 บาท