ไอศกรีมถือเป็นของโปรดของเด็กหลาย ๆ คน ที่ไม่ว่าจะได้กินเมื่อไรเป็นต้องดีใจกันทุกคน ด้วยความเย็นและรสชาติที่หวาน หอม สีสันสดใสน่ารับประทานแล้ว วันนี้เรามีกิจกรรม Cooking ไอศกรีมผลไม้ มาแนะนำค่ะ ด้วยส่วนผสมเพียงไม่กี่ชนิด วัสดุ อุปกรณ์และขั้นตอนการทำก็แสนจะง่ายไม่ยุ่งยาก ว่าแล้วก็จับมือเจ้าตัวเล็กเข้าครัว แล้วเริ่มกันดีกว่าค่ะ

ส่วนผสมในการทำไอศกรีม

ส่วนผสมในการทำไอศกรีมผลไม้
ส่วนผสมในการทำไอศกรีม
  • 1ราสเบอร์รี่ 100 กรัม
  • 2วิปปิ้งครีม 200 มิลลิลิตร
  • 3ไข่เป็ด 1 ฟอง
  • 4น้ำตาลทรายแดง 4 ช้อนโต๊ะ
  • 5น้ำมะนาว 1 ช้อนชา
  • 6ท็อปปิ้งต่าง ๆ เช่น เยลลี่ ผลไม้สด ฯลฯ

ขั้นตอนการทำไอศกรีม

1. นำราสเบอร์รี่ 100 กรัม ใส่ลงในชามสำหรับผสมใบที่ 1 (สามารถใช้ราสเบอร์รี่ได้ทั้งแบบแช่แข็งและแบบสดได้ค่ะ) แล้วบดราสเบอร์รี่ด้วยไม้บด แต่ไม่ต้องบดให้ละเอียดมากนะคะ ให้บดแค่หยาบ ๆ ยังพอให้มีเนื้อราสเบอร์รี่เหลืออยู่ค่ะ

ในขั้นตอนนี้ผู้ปกครองและคุณครูสามารถให้เด็ก ๆ ช่วยทำได้ค่ะ โดยอาจให้เด็ก ๆ ช่วยตักผลไม้ใส่ลงในชามหรือช่วยบดผลไม้ แต่ในเด็กอายุ 3-4 ปี ที่กล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรง ผู้ปกครองและคุณครูอาจจะต้องช่วยเค้าออกแรงบดผลไม้นะคะ
บดราสเบอร์รี่ในชามใบที่ 1 ด้วยไม้บด
บดราสเบอร์รี่ในชามผสมใบที่ 1 ด้วยไม้บด

2. ใส่ไข่เป็ดและน้ำตาลทรายแดงลงในชามผสมใบที่ 2 จากนั้นใช้ตะกร้อมือตีส่วนผสมให้เข้ากัน (แนะนำให้ใช้ตะกร้อมือตีจนกว่าน้ำตาลทรายแดงจะละลาย)

ใช้ตะกร้อมือตีไข่เป็ดและน้ำตาลทรายแดงในชามใบที่ 2 ให้เข้ากัน
ใช้ตะกร้อมือตีไข่เป็ดและน้ำตาลทรายแดงในชามผสมใบที่ 2 ให้เข้ากัน

3. เทวิปปิ้งครีมและน้ำมะนาว 1 ช้อนชา ลงในชามผสมใบที่ 3 จากนั้นให้ใช้ตะกร้อมือตีวิปปิ้งครีมเรื่อย ๆ จนกว่าวิปปิ้งครีมจะเนียนค่ะ

แนะนำว่าอย่าตีวิปปิ้งครีมนานเกินไปนะคะ เพราะไม่อย่างนั้นเนื้อวิปปิ้งครีมจะเกิดการแยกตัวกลายเป็นเม็ดไขมัน หรือกลายเป็นเนยได้ค่ะ
ตีวิปปิ้งครีมในชามใบที่ 3 จนกว่าวิปปิ้งครีมจะเนียน
ตีวิปปิ้งครีมในชามผสมใบที่ 3 ไปเรื่อย ๆ จนกว่าวิปปิ้งครีมจะเนียน

4. นำส่วนผสมที่เตรียมไว้มาผสมเข้าด้วยกัน โดยให้เริ่มจากการเทไข่ที่ตีไว้ในชามผสมใบที่ 2 ใส่ลงในวิปครีมก่อน แล้วคนให้เข้ากันเล็กน้อย จากนั้นให้ใส่ราสเบอร์รี่บดตามลงไป คนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากันอีกครั้ง (ในการคนส่วนผสมแต่ละครั้ง แนะนำให้คนแค่แป๊ปเดียวนะคะ เพราะเรายังต้องระวังในเรื่องการแยกตัววิปครีมอยู่ค่ะ)

คนส่วนผสมไข่กับวิปปิ้งครีมให้เข้ากัน
เทไข่ที่เตรียมไว้ในชามผสมใบที่ 2 ลงในวิปปิ้งครีม แล้วคนให้เข้ากัน
คนราสเบอร์รี่ที่บดไว้กับส่วนผสมทั้งหมดที่เตรียมไว้ให้เข้ากัน
จากนั้นให้ใส่ราสเบอร์รี่บดตามลงไป แล้วคนให้เข้ากันอีกครั้ง

5. เมื่อคนส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันแล้วให้เทส่วนผสมลงในกล่องพลาสติก จากนั้นนำไปแช่ช่องฟรีซ ประมาณ 6 ชั่วโมง เพื่อให้ส่วนผสมแข็งตัว

เทส่วนผสมทั้งหมดลงในกล่องพลาสติก
เทส่วนผสมลงในกล่องพลาสติก แล้วนำไปแช่ช่องฟรีซ

6. เสร็จแล้วค่ะ ไอศกรีมราสเบอร์รี่แสนอร่อย (อย่าลืมตกแต่งไอศกรีมด้วยท็อปปิ้งต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ด้วยนะคะ)

ไอศกรีมผลไม้หลังจากแช่ในช่องฟรีซ
เมื่อนำไอศกรีมออกจากช่องฟรีซ ก็จะได้รูปร่างหน้าตาแบบนี้ค่ะ
ไอศกรีมผลไม้ตกแต่งด้วยท็อปปิ้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ตกแต่งไอศกรีมด้วยท็อปปิ้งต่าง ๆ ตามใจชอบค่ะ

ผู้ปกครองและคุณครูสามารถเปลี่ยนรสชาติของไอศกรีมได้ตามต้องการเลยนะคะ ด้วยการเปลี่ยนผลไม้ที่นำมาทำค่ะ ทั้งนี้ในระหว่างที่ทำไอศกรีมผู้ปกครองและคุณครูอาจสอนเด็ก ๆ ในเรื่องประโยชน์ของราสเบอร์รี่หรือผลไม้ต่าง ๆ ให้กับเด็ก ๆ ค่ะ

เด็กน้อยใช้ท็อปปิ้งตกแต่งไอศกรีมผลไม้
ให้เด็ก ๆ ตกแต่งไอศกรีมผลไม้ของตัวเองตามจินตนาการ
เด็กน้อยโชว์ไอศกรีมผลไม้ที่ตกแต่งแล้ว
ไอศกรีมผลไม้ของหนู ตกแต่งเสร็จแล้วค่ะ

ในการทำไอศกรีมเด็ก ๆ จะได้สร้างสรรค์และใส่จินตนาการอย่างเต็มที่ในการตกแต่งไอศกรีมของตัวเองแล้ว เด็ก ๆ ยังได้ฝึกทักษะการสังเกตจากการชั่งตวงส่วนผสมต่าง ๆ ที่สำคัญการทำไอศกรีมยังเป็นเหมือนการทดลอง กิจกรรมวิทยาศาสตร์สนุก ๆ สำหรับเด็กอีกด้วย เพราะเด็กจะได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของไอศกรีมตั้งแต่ขั้นตอนแรก จนถึงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งผู้ปกครองและคุณครูควรอธิบายหลักการการเปลี่ยนแปลงสถานะของไอศกรีมให้กับเด็ก ๆ ได้เข้าใจควบคู่กันไปด้วยนะคะ

ค่าใช้จ่ายในการทำไอศกรีม

ค่าใช้จ่ายในการทำไอศกรีมครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 137 บาท แบ่งเป็น

  • วิปปิ้งครีม 200 มิลลิลิตร 95 บาท
    (หาซื้อได้ตาม Top , Tesco Lotus , Big C และร้านขายอุปกรณ์เบเกอร์รี่ทั่วไป)
  • ราสเบอร์รี่แช่แข็ง 100 กรัม 32 บาท
  • ไข่เป็ด 1 ฟอง 5 บาท
  • มะนาว 1 ลูก 5 บาท
เกร็ดความรู้
การแข็งตัวของไอศกรีม คือกระบวนการการเปลี่ยนแปลงสถานะของสสารจากของเหลวกลายเป็นของแข็ง มักเกิดขึ้นเมื่อของเหลวนั้น ๆ สูญเสียความร้อนหรือพลังงาน ได้แก่ น้ำ เปลี่ยนแปลงสถานะเป็น น้ำแข็ง โดยของแข็งนั้นสามารถเปลี่ยนสถานะกลับเป็นของเหลวได้เช่นกัน ถ้าหากได้รับพลังงานหรือความร้อน
My second tip