จากบทความ แนวทางการสอนลูกให้คิดอย่างเป็นระบบด้วย Mind Map ผ่านการระดมความคิด (Brainstorm) โดยมีหัวข้อใหญ่เป็นแกนกลาง แล้วกระจายความคิดออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งช่วยให้เด็กคิดและตอบในเรื่องที่ตัวเองสนใจ และเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กอยากเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น จะเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ โดยที่คุณครูและผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้เด็ก ๆ จัดประสบการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบโครงการ หรือที่เรียกว่า Project Approach
Project Approach คือ...
Project Approach (การสอนแบบโครงการ) เป็นการเรียนที่มุ่งเน้นให้เด็กมีส่วนร่วมและกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็ก และตอบสนองตามความต้องการที่หลากหลายของเด็ก ๆ โดยเป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติที่เน้นให้เด็กลงมือทำได้ด้วยตัวเอง การสอนแบบโครงการนี้ถือเป็นเครื่องมือการสอนที่ดีอย่างยิ่งสำหรับคุณครู เพราะจะแสดงให้เห็นถึงสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่แนวคิดในเรื่องแห่งความเป็นจริง การตั้งคำถามจากความสนใจที่แท้จริง และการค้นหาคำตอบในเชิงลึกของเด็กในหัวข้อหรือเรื่องที่เด็กสนใจ แล้วยังส่งเสริมทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านการสำรวจ การสืบค้น การจดบันทึก และการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ตามเรื่องที่เด็กสนใจ ผ่านประสบการณ์ตรงที่หลากหลาย ตลอดจนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สรุปออกมาเป็นชิ้นงาน
การจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach) ผู้สอนสามารถจัดเป็นนิทรรศการที่เป็นการสรุปความคิดรวบยอดของเด็ก ๆ ที่จะนำมาเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รู้ถึงวิธีการทำงานที่เป็นกระบวนการตามขั้นตอน นอกจากการเรียนรู้แล้ว Project Approach ยังเป็นการสอนเชิงลึกเกี่ยวกับหัวข้อในความเป็นจริงที่เด็ก ๆ มีความสนใจและพยายามสืบค้นด้วยตัวเอง ทั้งยังช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี
วิธีการสอนแบบ Project Approach
เป็นวิธีการสอนให้เด็กเลือกเรื่อง หรือหัวข้อของโครงการตามความสนใจของเด็ก ๆ โดยเฉพาะ คุณครูสามารถกำหนดขอบเขตตามพัฒนาการของเด็ก ๆ ผ่านกระบวนการ 3 ระยะ ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นโครงการ ขั้นพัฒนาโครงการ จนถึงการสรุปโครงการ ซึ่งจะช่วยให้คุณครูสามารถจัดระเบียบ ดูความก้าวหน้าของกิจกรรมตามการพัฒนาความสนใจของเด็ก และการมีส่วนร่วมกับหัวข้อการเรียนรู้นั้น ๆ
ในระหว่างขั้นตอนการวางแผนเบื้องต้น คุณครูจะเลือกหัวข้อการเรียนรู้ตามความสนใจของเด็กเป็นหลัก และระดมประสบการณ์ความรู้ แนวคิดของตัวเด็ก แล้วนำเสนอเป็นหัวข้อใน Mind Map จากนั้นแตกออกมาเป็นหัวข้อย่อย เพื่อที่จะถูกเพิ่มในหัวข้อของ Mind Map และใช้สำหรับบันทึกความก้าวหน้าของโครงการอีกด้วย
การกำหนดหัวข้อโครงการ
หัวข้อการเรียนรู้สามารถกำหนดได้จากเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของตัวเด็กเอง เพราะทุก ๆ คำถามที่เด็กถาม มักเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เด็กพบเห็นได้จากประสบการณ์ตรงในชีวิตประจำวัน และในคำถามที่เด็กถาม คุณครูจะเป็นเพียงผู้ชี้แนะและจะไม่ให้คำตอบทันทีกับคำถามที่เด็กถาม แต่คุณครูจะให้เด็กค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ผ่านการสืบค้นจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ตัวอย่าง เช่น โครงการไปรษณีย์ เด็ก ๆ มีข้อสงสัยว่า ไปรษณีย์ คืออะไร... แล้วมีไว้ทำอะไร... คุณครูก็จะเป็นผู้แนะนำหรือชี้แนะ โดยใช้การระดมความคิดจากเด็ก ๆ ถึงความเป็นไปได้ในหัวเรื่องนั้น ๆ เด็กบางคนที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ตรง อาจจะแบ่งปันความรู้ให้เพื่อน ๆ ฟัง และให้เด็ก ๆ ไปหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต แผ่นพับ นิตยสาร และผู้ปกครองที่บ้าน เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เด็ก ๆ ก็จะนำข้อมูลที่ได้มาสนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันทีละหัวข้อ เพื่อที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ มีความเข้าใจในหัวข้อที่กำลังแลกเปลี่ยนกันหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การสอนแบบโครงการใช้เวลาในการสอนค่อนข้างนาน หลายสัปดาห์กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ หรือในบางหัวข้อก็อาจใช้เวลาเป็นเทอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็ก ๆ ด้วยค่ะ
การสอน 3 ระยะของ Project Approach
การเรียนรู้แบบ Project Approach แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 : การเริ่มต้นโครงการคุณครูร่วมกันอภิปรายหัวข้อกับเด็ก ๆ เพื่อค้นหาประสบการณ์ที่เด็กมี สิ่งที่เด็กรู้แล้ว และสิ่งที่เด็กอยากรู้ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ และแสดงความเข้าใจแนวคิดที่เกี่ยวข้อง จากการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน คุณครูจะใช้คำถามถาม เพื่อกระตุ้นให้เด็กตอบคำถาม และทำจดหมายเกี่ยวกับหัวเรื่องการเรียนรู้ของโครงการส่งกับบ้านถึงผู้ปกครอง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ปกครองได้พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ๆ และแบ่งปันความรู้ให้กับเด็ก ๆ เพื่อเด็กจะได้นำความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้รับมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ในห้องต่อไป
ขั้นตอนนี้จะเป็นการจัดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ทำงานภาคสนามและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เด็กสนใจเรียนรู้ โดยคุณครูจะเป็นผู้จัดหาทรัพยาการต่าง ๆ เช่น หนังสือ เอกสารงานวิจัย พร้อมทั้งแนะนำวิธีการตรวจสอบที่หลากหลายให้กับเด็ก เพื่อช่วยเด็กในการสืบค้นและรวบรวมข้อมูลด้วยวัตถุจริง เปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนมีส่วนร่วมในการเป็นตัวแทนของสิ่งที่เค้ากำลังสืบค้น และช่วยให้เด็กสามารถทำงานตามความสามารถของตัวเองได้ เช่น บางคนมีทักษะพื้นฐานด้านงานประดิษฐ์ การวาดภาพ การนำเสนอ และการเล่นละคร โดยคุณครูช่วยสนับสนุนให้เด็กได้ทำงานตามความถนัดของแต่ละคนผ่านการอภิปรายในห้องเรียน ซึ่งหัวข้อของ Mind Map ที่ออกแบบไว้ก่อนหน้า จะให้ข้อมูลย่อเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการด้วยค่ะ
เด็กและคุณครูร่วมกันจัดนิทรรศการ โดยให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับหัวข้อ Project Approach ให้เด็ก ๆ ช่วยกันอภิปรายถึงหลักฐานที่สืบค้น เปรียบเทียบการตั้งสมมุติฐานว่าตรงกันหรือไม่ เล่าเรื่องโครงการของพวกเขาให้ผู้อื่นฟัง โดยเน้นจุดเด่นของโครงการ คุณครูและผู้ปกครองช่วยเด็ก ๆ วางแผนการดำเนินการ พร้อมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เด็ก ๆ ทำและค้นพบ อย่างเต็มความสามารถ ความสนุกสนาน ความกระตือรือร้นและความภูมิใจในตัวเด็กผ่านผลงานต่าง ๆ ทั้งนี้ครูควรบันทึกความคิดและความสนใจของเด็กในระหว่างการทำโครงการ เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงทางความสนใจ ความรู้ และความคิดของเด็ก ๆ ว่าก่อนเริ่มโครงการและหลังจากสรุปโครงการมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเพื่อเป็นแนวทางในการหาหัวข้อของโครงการในครั้งต่อไป
จากที่กล่าวมาการสอนแบบ Project Approach หรือการสอนแบบโครงการ คือ กิจกรรมที่เน้นกระบวนการการลงมือปฏิบัติ และการใช้กระบวนการคิดที่เกิดจากการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จากความสนใจของตัวเด็กเอง ที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างลึกซึ้งในรายละเอียดของหัวเรื่องที่เด็กเลือก อย่างมีความสุข สนุกสนาน และยังส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองและรู้จักทำงานอย่างมีแบบแผน นอกจากนั้นยังสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครอง เนื่องจากการสอนแบบโครงการผู้ปกครองและชุมชน จะมีส่วนสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างมาก