ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านอาจจะเป็นกังวลเมื่อเด็ก ๆ ที่บ้านเป็นเหาแต่มันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าเราหมั่นดูแลคอยตรวจเช็คหนังศรีษะให้เด็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ และในบางโรงเรียนมีนโยบายตรวจคัดกรองเด็ก เรื่องสุขอนามัย ก่อนเข้าชั้นเรียนและเมื่อตรวจพบว่าเด็กคนไหนเป็นเหาคุณครูประจำชั้นก็จะแจ้งกลับไปเพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบพร้อมคำแนะนำให้ปฏิบัติตาม เพราะผู้ปกครองบางท่านอาจจะไม่มีเวลาตรวจเช็คอย่างละเอียด เมื่อผู้ปกครองทราบเรื่องแล้วก็ควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเต็มใจ ผู้ปกครองไม่ควรแสดงอาการไม่พอใจและโทษเด็กคนอื่น ๆ ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกของคุณติดเหาควรให้ความร่วมมือกับคุณครูประจำ เพื่อจะกำจัดไม่ให้มันแพร่กระจายส่งต่อไปยังศรีษะของเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนค่ะ ไม่ต้องอายนะคะว่าลูกเราเป็นเหา เพราะไม่ว่าเราจะดูแลรักษาความสะอาดผมลูกเราดีอย่างไร เหาก็พร้อมที่จะมาเกาะบนศรีษะได้ตลอดเวลาเพราะตัวผู้เขียนเองสระผมให้ลูกทุกวัน ตรวจหนังศรีษะลูกทุกวันลูกยังเป็นเลยค่ะ และเมื่อเราตรวจพบเจอแล้วรีบแก้ไขทุกอย่างก็ไม่น่ากังวลอย่างที่ผู้ปกครองทุก ๆ ท่านเป็นกังวลค่ะ จากประสบการณ์ตรงที่อยากส่งต่อ เรามาทำความรู้จักเหาให้มากขึ้นดีกว่านะคะ

เหา คือ....

โรคติดเชื้อปรสิตที่เป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ ตัวมันจะเทา ๆ ขนาดตัว 3-4 มิลลิเมตร ชอบเกาะอยู่ตามหนังศรีษะ คอยดูดเลือดและวางไข่บนหนังศรีษะ ทำให้เกิดอาการคันสามารถเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากที่พบเห็นกันบ่อย ๆ จะเกิดในเด็กชั้นอนุบาลเสียเป็นส่วนใหญ่ โรคเหาสามารถรักษาให้หายได้และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้นะคะ ขอบอก!!

อาการของเหา

สามารถสังเกตอาการได้ จากการคันและความรู้สึกเหมือนมีตัวอะไรเคลื่อนไหวอยู่บนหนังศรีษะ ถ้าหากมีอาการดังกล่าว ให้ผู้ปกครองลองใช้หวีเสนียดหวีสางที่ศรีษะเด็ก ดูว่ามีไข่เหาหรือตัวเหาติดมาที่หวีหรือเปล่า ในเด็กบางคนอาจมีอาการคันมากและเกาจนหนังศรีษะเป็นแผล ทำให้มีอาการแสบและติดเชื้อได้ค่ะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเหาจนกว่าจะเกิดอาการคัน ดังนั้น ผู้ปกครองควรคอยสังเกตด้วยนะคะ

อาการของเหา
สังเกตอาการเด็กจากการคันหนังศีรษะ

สาเหตุของการเป็นเหาในเด็ก

โดยปกติแล้วสาเหตุของการเป็นเหา ไม่ได้อยู่เฉพาะที่สุขอนามัย แต่เหาอยู่ได้กับเด็ก ๆ ทุกคน ไม่ว่าผู้ปกครองจะดูแลรักษาความสะอาดหนังศรีษะ โดยการสระผมทุก ๆ วัน เด็กก็ยังสามารถเป็นเหาได้ เพราะฉะนั้นอย่าชะล่าใจนะคะ โรคเหาสามารถติดต่อกันได้จากการอยู่ใกล้ชิดคนที่เป็นเหาและใช้สิ่งของร่วมกับคนเป็นเหาไม่ว่าจะเป็น หวี หมอน หมวก ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ

วิธีการกำจัดเหา
อุปกรณ์ในการกำจัดเหา

วิธีการกำจัดเหา

วิธีการกำจัดเหานั้นมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ใบน้อยหน่าหมักผมหรือการใช้แชมพูกำจัดเหาสำหรับเด็ก วิธีใช้แชมพูกำจัดเหาง่าย ๆ เลย คือ ให้ผู้ปกครองล้างผมเด็กด้วยน้ำสะอาดให้พอหมาด ๆ จากนั้นชโลมแชมพูลงบนหนังศรีษะเด็ก นวดให้เป็นฟอง หมักทิ้งไว้ประมาณ 7 นาที ล้างออกด้วยน้ำสะอาด แล้วสระผมเด็กอีกครั้งด้วยแชมพูเด็กธรรมดา ในระหว่างสระผมเด็กให้ผู้ปกครองใช้หวีเสนียดหวีหนังศรีษะไป 5-6 ครั้ง จะมีไข่เหาและเหาติดหวีออกมาเรื่อย ๆ เลยค่ะ จากนั้นหวีซ้ำ ๆ จนไม่มีไข่เหาหรือเหาติดมากับหวี

มีอีกวิธีที่อยากแนะนำค่ะ ให้ใช้เครื่องหนีบผมรีดบริเวณที่มีไข่เหาเกาะอยู่ตามเส้นผม เพื่อฆ่าให้ไข่มันฝ่อ ป้องกันไม่ให้เกิดการฟักตัว วิธีนี้ได้ผลดีจริง ๆ ค่ะ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวังเพราะหนังศรีษะเด็กนั้นบอบบาง ถ้าบ้านไหนมีเครื่องหนีบผมขนาดเล็ก ๆ จะดีค่ะเหมาะสำหรับเด็ก และควรทำซ้ำ ๆ ประมาณ 3-4 วัน และหมั่นเปิดดูในผมเด็กว่า มีตัวเหาหรือไม่เพราะบางครั้งมันจะแอบอยู่ในเส้นผม ตัวมันเล็กมาก ๆ ต้องคอยดูเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีตัวแล้ว ส่วนไข่เหาที่ฝ่อแล้วก็ยังติดเหนียวแน่นอยู่ที่เส้นผมนะคะ ถ้าผู้ปกครองพอจะมีเวลาว่างก็นั่งรูดไข่ออกก็จะดีค่ะ เพราะเวลาหวีผมให้เด็กจะได้ไม่รู้สึกรำคาญสายตาค่ะ

ในการกำจัดเหานี้เป็นเพียงวิธีที่ผู้เขียนอยากแนะนำจากประสบการณ์ตรงที่ได้ทำมาแล้วจริง ๆ กับเด็กน้อยที่บ้าน ถึงแม้เราจะสระผมให้เด็กทุกวันเหามันก็สามารถมาอาศัยอยู่บนศรีษะได้ค่ะ มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดได้ในเด็กทุกคน ส่วนการรักษาในเด็กบางคนอาจจะแพ้ยาหรือสารเคมีบางชนิด ทางที่ดีก็ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุดค่ะ